วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

แนวคิดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เป้าหมายหลักคือความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในเมืองนั้น โดยการพัฒนาเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด สู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้น ได้แก่
1.การทำให้เกิดพื้นที่เมืองที่มีคุณภาพในการจัดวางระบบสาธารณูปโภคของเมือง มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายและการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งระบบทั่วไปและระบบที่ใช้ในการรองรับด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เสริมจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองและแนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ดีได้
2.เมืองมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสารสนเทศและการสื่อสาร กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้เมืองสามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมาได้โดยง่าย ทั้งนี้หมายรวมถึงทั้งเทคโนโลยีไร้สาย (wireless) และพร้อมสาย (cable) ที่ต้องมีการออกแบบและวางแผนอย่างเป็นระบบ
3.การพัฒนาฐานเศรษฐกิจและการลงทุนที่ควบคู่ไปกับกิจกรรมในเมือง เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
4.สร้างหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเมืองในอนาคต การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีความจำเป็นเพราะเมืองต้องพึ่งพาการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้กลไกการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพ โดยจะสามารถพัฒนาให้เกิดความสอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานของประชากรในแต่ละเมืองได้อย่างดี ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS CENTER)

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัจจุบันการใช้งานทางพิเศษมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์เราเพื่อการสัญจร เป็นเหตุให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้รับประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็คือศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ             (ITS CENTER) ที่มีการควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัย เป็นอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจและได้นำมาเสนอกันในครั้งนี้
โดยศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS CENTER) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจราจรบนทางพิเศษกับหน่วยงานภายนอก กทพ. ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากจากกล้อง CCTV จำนวน 251 กล้อง ที่ติดตั้งอยู่บนทางพิเศษฯ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อข้อมูลสภาพจราจรจากระบบอื่นๆ ของ กทพ. เพื่อนำเข้าข้อมูลมารายงานในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย อาทิ แผนผังรายการภาพรวมสภาพจราจรแบบเส้นสี Schematic Map และ Smart VMS โดยในการพัฒนาแผนดังกล่าวนั้นได้เป็นไปตามมาตรฐานของ Web Service ให้มีความปลอดภัยทางด้านสารสนเทศและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย
ประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านศูนย์กลางจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม และยังเกิดประโยชน์ทางด้านการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ป้ายอัจฉริยะบนถนนมิตรภาพ ตัวช่วยจัดระเบียบท้องถนน

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวบนถนนมิตรภาพมักเกิดปัญหาการจราจรติดขัด เพราะคนส่วนใหญ่กลับบ้านต่างจังหวัดและยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางพักผ่อนในภาคอีสานจำนวนมาก ทำให้ถนนมิตรภาพมีการสัญจรที่หนาแน่น นำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นประจำทุกปีจนชินตา และได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดถนนมิตรภาพก็ได้มีการจัดทำป้ายอัจฉริยะขึ้นโดยกรมทางหลวง เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดให้น้อยลง ช่วยให้ผู้ขับขี่มีวินัยมากขึ้น โดยป้ายอัจฉริยะดังกล่าวเป็นป้ายไฟ LED ปรากฎตัวเลขกำกับความเร็วสลับกับประเภทรถยนต์ที่เหมาะสมกับเลนนั้นๆ โดยรถยนต์ขนาดใหญ่จะถูกจัดให้วิ่งในเลนซ้าย และรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดทั่วไป จะถูกจัดให้วิ่งในเลนขวา พร้อมด้วยกล้อง CCTV และชุดไมโครเวฟเซ็นเซอร์ ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจจับความเร็วรถยนต์ หากรถยนต์คันไหนวิ่งมาด้วยความเร็วเกินกำหนดจะปรากฎขึ้นที่หน้าจอก่อนที่รถยนต์คันนั้นจะวิ่งผ่านไป เพื่อเป็นการป้องปรามและแจ้งเตือน นอกจากนี้ป้ายอัจฉริยะยังบอกเหตุที่เกิดขึ้นข้างหน้าให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ล่วงหน้าอีกด้วย  
ป้ายอัจฉริยะบน ถนนมิตรภาพ มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบบนท้องถนนให้ผู้ขับขี่มีวินัยมากขึ้น เพื่อช่วยลดการสะสมจำนวนรถยนต์บนการจราจร แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Smart City มีแนวทางรับมือกับปัญหาขยะล้นเมืองอย่างไร?



บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในการจัดการกับขยะแบบอัจฉริยะ เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่เมืองที่ยั่งยืน ซึ่งห่วงโซ่ของกระบวนการจัดการขยะแบ่งออกเป็นขั้นตอนสำคัญได้แก่ การรวบรวม, การขนส่ง, การแปรรูปขยะ และการรีไซเคิลหรือการนำไปกำจัด
  1. เทคโนโลยีการเก็บและขนขยะ (Waste Collection and Transport System)
ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีวิธีกำจัดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะเพื่อความสะดวกในการนำมารีไซเคิล หรือการลดใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น การรวบรวมขยะจากแหล่งชุมชนต่างๆ ภายในเมือง จึงเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการนำขยะไปกำจัด ทุกเมืองจึงมีรถบรรทุกขยะ แต่ถ้ามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ก็จะทำให้การรวบรวมขยะมีความสะดวกและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น
การจัดเก็บขยะด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์
ระบบการจัดเก็บขยะแบบอัจฉริยะสามารถทำได้ด้วยการติดเซ็นเซอร์ในฝาถัง สิ่งนี้จะทำให้รู้ถึงปริมาณขยะของแต่ละถัง เมื่อถึงปริมาณที่ต้องเก็บก็จะส่งสัญญาณไปบอกให้รถเข้ามารับผ่านเครือข่าย 3G กลับไปประมวลผลบน Cloud แบบ Real Time จากนั้นซอฟท์แวร์จะวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data  แถมยังบอกเส้นทางที่เลี่ยงการจราจรติดขัดเพื่อประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง นอกจากนี้เซ็นเซอร์ยังตรวจสอบประเภทของขยะได้อีกด้วย ในเบื้องต้นจะคัดแยกขยะในถังแต่ละประเภท แก้ว กระดาษ อินทรีย์วัตถุ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือสามารถแจ้งเตือนเมื่อพบเหตุการณ์ที่ผิดปกติเช่น อุณหภูมิที่สูง หรือมีการเคลื่อนไหวแปลกปลอม รวมไปถึงระบบเซ็นเซอร์สามารถคาดการณ์วันที่ขยะจะเต็มถังจากสถิติที่เก็บผ่านๆมา เมืองที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้แก่ ประเทศสเปน, ฟินแลนด์ เป็นต้น
การจัดการขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ
การรวบรวมขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ (Vacuum) เป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้รถขยะออกไปเก็บ แต่วิธีนี้ลงทุนสูง โดยการออกแบบวางโครงข่ายระบบท่อภายในเมืองจากชุมชนหรืออาคารต่างๆ ไปยังสถานีพักขยะ ต้องมีการติดตั้งที่ใส่ขยะ ใหม่ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นก็เดินท่อพลาสติกชนิด HDPE ที่มีความหนาและทนทานอยู่ใต้ดิน หลักการทำงานของระบบคือ ขยะที่นำมาทิ้งต้องบรรจุอยู่ในถุงหุ้มห่อให้มิดชิด เพื่อไม่ให้มีการฉีกขาดหรือมีเศษขยะตกค้างระหว่างขนส่ง เมื่อระบบเซนเซอร์ในที่ใส่ขยะตรวจจับพบว่ามีปริมาณขยะที่มากพอ จะส่งสัญญาณ 3G ไปยังระบบควบคุมที่สถานีพักขยะให้ทำการเปิดเครื่องดูดอากาศออกจากท่อ จึงทำให้ขยะจากที่ใส่ขยะถูกดูดตามมายังสถานีพักขยะก่อนที่จะถูกนำออกไปกำจัดต่อไป ซึ่งระยะทางของสถานีพักขยะไปถึงที่ใส่ขยะจะขึ้นอยู่กับขนาดของความแรงของเครื่องดูดอากาศเป็นหลัก
ปัจจุบันมีการวางระบบโครงข่ายขนส่งขยะตามท่อในหลายเมืองในยุโรป ในระดับเทศบาลหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น สวิสเซอร์แลนด์, ฟินแลนด์ เป็นต้น ที่สำคัญระบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในอาคารสูงๆ ทั่วโลก
  1. เทคโนโลยีการแปรรูปขยะ
การแปรรูปขยะจะต้องมีโรงงานแปรรูปขยะ ซึ่งควรมีคุณลักษณะดังนี้
  • ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่เกิดขยะ จะได้ไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่ง และไม่แพร่กระจายกลิ่นรวมถึงเชื้อโรค กรณีที่เกิดการรั่วไหลระหว่างขนส่ง
  • ต้องเป็นโรงงานแปรรูปขยะที่มีระบบการจัดการที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดภาวะใดๆ ไม่ปล่อยน้ำเสีย, กลิ่นเหม็น, ควันไฟ, เสียงดัง ที่เป็นการรบกวนผู้อื่น
  • ต้องสามารถคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ตามลักษณะการจัดการ ในกรณีที่ขยะไม่ได้คัดแยกมาจากแหล่งที่เกิด
  • ต้องมีระบบเครื่องจักรช่วยในการแปรรูปขยะทั้ง 4 กลุ่ม ให้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุดิบ เพื่อการผลิตหรือพลังงานทดแทนได้ เพื่อสร้างมูลค่าทดแทนค่าใช้จ่าย ดำเนินการและสร้างผลกำไรตอบแทนผู้ลงทุนได้
โรงจัดการแปรรูปขยะ (Material recovery facilities, MRF)
ระบบโรงจัดการแปรรูปขยะที่ดีและเหมาะสม จะต้องมีกำลังการผลิตที่สามารถรองรับปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่แต่ละวันโดยไม่สะสมข้ามวัน ดังนั้นจะต้องมีเครื่องจักรและระบบที่สามารถจัดการขยะได้อย่างต่อเนื่องวันเว้นวัน มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร เช่น มีการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของการใช้ซ้ำและการแปรรูป (Reuse & Recycle) รวมถึงการกำจัดที่ได้ผลพลอยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recovery) เช่น ปุ๋ยหมัก หรือ พลังงาน เป็นต้น
3. เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย
เทคโนโลยีที่ใช้สามารถแบ่งออกได้ 3 ระบบใหญ่ด้วยกัน คือ
  • ระบบทำปุ๋ย (Biological Conversion Technology)  เป็นการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยกระบวนการทางชีววิทยาของจุลินทรีย์ เป็นตัวการย่อยสลายให้แปรสภาพเป็นแร่ธาตุที่มีลักษณะเด่นและค่อนข้างคงรูป มีสีดำค่อนข้างแห้ง สามารถนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพของดิน
  • ระบบการเผาในเตาเผา ( Thermal Conversion Technology) เป็นการทำลายขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาทำลายในเตาเผาที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างอย่างถูกต้องและเหมาะสม แต่การเผามักก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซพิษ เป็นต้น ดังนั้นต้องมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ จึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมการเผาขยะ ทำให้เกิดระบบเตาเผาขึ้นหลายระบบด้วยกัน
  • การฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยโดยนำไปฝังกลบในพื้นที่ ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักวิชาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และที่สำคัญต้องได้รับการยินยอมจากประชาชน ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างต้องมีการวางมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปนเปื้อนของน้ำเสียจากกองขยะ จะส่งผลให้ดินเสื่อมคุณภาพและการป้องกันน้ำท่วมที่อาจส่งกลิ่นเหม็น จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขุดหลุมฝังกลบ
ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาที่ต้องเร่งมือแก้ไขเพราะขยะเกิดขึ้นทุกๆ วินาที เราต้องยอมรับว่าสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้คือ “การไม่สร้างขยะเพิ่ม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำกลับมาใช้ซ้ำ การแปรรูป หรือลดใช้ก็ตาม เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ถ้ายังไม่ร่วมมือกันหยุดสร้างขยะย่อมไม่เกิดประโยชน์ จริงๆ แล้วเมืองอัจฉริยะ ย่อมเกิดจากคนอัจฉริยะ ที่จะช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า สิ่งที่เราเริ่มต้นทำได้จากจุดเล็กๆ นั่นคือการปลูกฝัง “วินัย” ลดใช้พลังงาน ไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม เพียงเท่านี้เมืองของเราก็เข้าใกล้คำว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ แบบเต็มประสิทธิภาพแล้ว

Smart City กับประโยชน์ด้านผังเมือง

แนวคิด Smart City ที่มีส่วนในการพัฒนาเมือง ให้เป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ในด้านผังเมืองยังมีการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ สู่ประสิทธิภาพรอบด้าน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี
เมืองอัจฉริยะในด้านผังเมืองจะใช้ประโยชน์จากระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีอยู่ได้อย่างเพียงพอหรือมีประสิทธิภาพ เข้าถึงกลุ่มคนทุกชนชั้นและหลากหลายภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ปรับใช้เมืองให้มีประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่กิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
Smart City มีแนวคิดที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้านตามเป้าหมายสูงสุด คือพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ ลดปัญหาแออัดของชุมชนได้อย่างเหมาะสม

สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้? Smart city ใช้เทคโนโลยีรับมือกับปัญหาขยะ

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัญหาขยะเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อสังคมโดยรวม ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต หลายเมืองพบว่าขยะเป็นชนวนสำคัญ
ที่สร้างผลกระทบหลายอย่าง และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งแนวคิด Smart City ก็มีวิธีการจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดการแบบเดิมๆ
มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า จึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยกุญแจสำคัญของการจัดการก็คือใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาแบบบูรณาการ แทนการกำจัดแบบเดิม อย่างการนำรถบรรทุกวิ่งไปเก็บและนำมาฝังกลบ Smart City จะใช้วิธีที่ดีกว่านั้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น เช่น การจัดเก็บขยะด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์, การจัดการขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ เป็นต้น
Smart City คือกุญแจสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาขยะโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

Smart City กับหลักการสำคัญสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

แนวคิดเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City คือทิศทางในการพัฒนาเมือง ให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งก็ได้กำหนดหลักการสำคัญเอาไว้ 4 ข้อ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ว่าการจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีการใช้ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ถนน อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่เมืองอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายและการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในเมืองนั้นให้เข้มแข็ง
2) มีความยืดหยุ่นสูง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเมืองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3) เทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล เปิดกว้างและสามารถเข้าถึงแก่ผู้ใช้ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ทั้งยังสามารถแก้ไขให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันได้ด้วย
4) เป็นเมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ปลอดภัย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ บ่มเพาะนักธุรกิจ นักพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
หากเมืองใดมีครบทั้ง 4 ข้อนี้ ก็เท่ากับว่ามีคุณสมบัติตรงกับหลักการสำคัญซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สู่การพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ ดีขึ้น

รู้จักกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4 ระดับ

เมืองนิเวศหรือ Eco Town แนวคิดการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ลงตัวไม่รบกวนซึ่งกันและกัน สู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุมชนแล้ว ยังถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม จำแนกตามพื้นที่ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ
1. ระดับปัจเจกบุคคล (Eco Factory หรือ Factory Level) การนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับตนเองในการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. ระดับกลุ่มอุตสาหกรรม/นิคมอุตสาหกรรม (Eco Industrial Group หรือ Eco Industrial Level) พื้นที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาอาศัยระหว่างโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อม
3. ระดับเมือง (Eco Town Level) การพึ่งพาอาศัยระหว่างอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในชุมชน
4. ระดับเมืองใหญ่หรือนคร (Eco City) เมืองที่เกิดจากการพัฒนาของทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การใช้บริการที่เกี่ยวข้องที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันและเกื้อหนุนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่จำแนกได้ หากสังเกตรายละเอียดที่สำคัญๆ จะพบว่าแต่ละระดับจะเน้นการใช้พื้นที่และทรัพยากรให้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยจะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม หรือลดปัญหาในระยะยาว

โครงการพระราชดำริ ไบโอดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงจากปาล์ม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้นำทุกด้านในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ มีโครงการพระราชดำริมากมายที่ช่วยบรรเทาทุกข์ภัยให้ปวงชนชาวไทย รวมถึงด้านพลังงานที่ทรงคิดค้นพลังงานทดแทนจากพืชสู่น้ำมันเชื้อเพลิงในโครงการพระราชดำริ ไบโอดีเซล
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ และได้ทรงคิดค้นพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี 2522 ทรงผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ รวมถึงไบโอดีเซลจากปาล์ม ทรงมองเห็นว่าต้นปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่สูง เกษตรกรยังสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ สู่การนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล และได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544 ต่อมาในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในโลกวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยให้คนไทยมีพลังงานใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศ

การพัฒนาเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่มาของการพัฒนาเมืองเกิดจากปัญหาสังคมที่เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของจำนวนประชากร ทำให้เกิดปัญหาแออัด การจราจรติดขัด การใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ ที่ส่งผลต่อระบบในสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ที่เผชิญเหมือนกัน และเพื่อรองรับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ทำให้ปัญหาดังกล่าวต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือที่มาสำคัญของแนวคิดพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว ที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพียงด้านเดียว
ทิศทางการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่รองรับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอาใจใส่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใส่ใจระบบนิเวศน์ให้มีความสมดุล ช่วยลดปัญหาการแออัด ปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะล้นเมือง ความเสื่อมโทรมของสาธารณูปโภค ฯลฯ ทิศทางการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้มีรูปแบบการพัฒนาประกอบไปด้วย เมืองสีเขียว (Green City) เมืองนิเวศน์ (Eco Town) (รวมถึงเมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco Industrial Town) เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Town) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของเมืองสีเขียว มีอะไรบ้าง?

เมืองสีเขียว หรือ Green City ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของทิศทางการพัฒนาเมือง เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่สีเขียวตามสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติ สภาพกึ่งธรรมชาติและสภาพเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อการใช้งานหรือประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต โดยวัตถุประสงค์สำคัญของเมืองสีเขียว ได้แก่
1.สร้างสรรค์ความกลมกลืนและสมดุลย์ระหว่างการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่เมืองกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ยังต้องอาศัยและพึ่งพากัน
2. ปรับปรุงพื้นที่เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ หรือในพื้นที่เมืองเดิมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในเมืองและระบบโดยรอบเมืองให้ดีขึ้น
3. ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง และรักษาสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่หรือให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานของเมืองหรือผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ
4. ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินจำเป็น เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

คุณสมบัติของ Green City หรือเมืองสีเขียว

ทำความรู้จักกับคำว่า Green City หรือเมืองสีเขียวกันก่อน คือเมืองที่มีต้นไม้พืชพันธุ์หรือพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ต่อการใช้งานดำรงชีวิตของประชากรเมือง ทั้งตามสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติ สภาพกึ่งธรรมชาติและสภาพเลียนแบบธรรมชาติ ที่ทำขึ้นให้เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของเมืองเมืองนั้น ที่สำคัญคือจะต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งต่อดิน น้ำและอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น แก้ไขปัญหาความยากจนและชุมชนแออัด ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีความเท่าเทียมในการอยู่อาศัย และมีโอกาสในการศึกษาหรือการทำงานในเมืองนั้นๆ
นอกจากเมืองสีเขียวจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้เมืองสามารถวางแผนพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานและงบประมาณของพื้นที่และองค์รวมในระดับประเทศและภูมิภาคได้ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
หลักการสำคัญของเมืองสีเขียวคือ ทำให้พื้นที่เมืองมีพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ควบคุมการใช้พื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อให้เหลือพื้นที่สีเขียวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และส่งเสริมการเป็นเมืองที่ยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งด้านพลังงาน อาหาร น้ำ ขยะและของเสีย โดยเน้นการสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองนั้นๆ

ทำอย่างไรให้เป็น “เมืองสีเขียว”

เมืองสีเขียว หรือ Green City ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในทิศทางการพัฒนาเมือง เบื้องต้นทราบแล้วว่าเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว สู่การใช้งานที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ส่วนวิธีการทำให้เป็นเมืองสีเขียวนั้น ได้แก่
1) การเพิ่มสวนหรือพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น ต่อคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ การลดและระบายความร้อน และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้งานเพื่อนันทนาการและช่วยให้ภูมิทัศน์เมืองมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย
2) การให้ความสำคัญกับการใช้แหล่งพลังงานสะอาด พลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและแสงแดด ซึ่งพลังงานเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นพลังงานที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด แต่อาจจะต้องอาศัยการวางแผนการจัดการเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการใช้งาน
3) อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถควบคุมให้ส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆให้น้อยที่สุด การใช้พลังงานหรือน้ำในอาคาร ควรสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่และสิ้นเปลืองการใช้งานน้อยที่สุด การเกิดขยะหรือสิ่งเหลือใช้จากอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในทุกขั้นตอน จะต้องมีน้อยที่สุด และสามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์
4) ระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดการสร้างมลภาวะในพื้นที่ มีระบบโครงข่ายการสัญจรที่เชื่อมต่อครอบคลุมกัน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ได้เกือบทั้งหมดของพื้นที่ และควรเน้นการเดินทางด้วยระบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินเท้าและเส้นทางจักรยาน
5) ควบคุมพื้นที่เมืองให้มีความหนาแน่นในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม จะช่วยควบคุมการขยายตัวอย่างไร้ทิศทางไปในแนวราบของเมืองได้เป็นอย่างดี ทำให้เมืองมีการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ดั้งเดิมตามธรรมชาติอย่างจำกัด จึงไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดการรบกวนพื้นที่เหล่านี้เกินความจำเป็น
ทั้งหมดนี้คือวิธีการของการทำให้เป็นเมืองสีเขียว ซึ่งช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหามลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีการใช้พลังงานที่สะอาด คือทิศทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญ

เมืองอัจฉริยะ (Smart City) บริหารด้วยไอทีจากไอเดีย

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
Smart city เป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลและโทรคมนาคมใช้ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลที่ได้รับ
            คำจำกัดความของ Smart City ถูกใช้อย่างหลากหลายทั่วโลก มักจะให้ความหมายที่หลากหลายสอดคล้องกัน สรุปได้ว่า รูปแบบเมืองอัจฉริยะจึงควร”เป็นเมืองที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตในเมืองๆ นั้นดีขึ้น ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลงอย่างยั่งยืน” ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ
  • Efficient การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพที่มากที่สุด
  • Sustainable มีความยั่งยืน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุน
  • Liveable คุณภาพชีวิตของคนอยู่อาศัยต้องดี
ในเมืองใหญ่ๆ ล้วนต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนเราจะเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทีทำงานโดยใช้ทางด่วนหรือทางหลวง เราก็สามารถตรวจสอบสภาพจราจรบนเส้นทางเรียลไทม์ (Real Time) เราสามารถทราบระยะเวลาการเดินทาง (Travel Time) บนเส้นทางได้ การแจ้งเตือนอุบัติเหตุ (Incident Detection) โดยเข้าไปเปิดที่เว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นสำหรับรายงานสภาพจราจร

จังหวัดที่จะยกระดับให้เป็นเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
เมืองหรือจังหวัดที่จะนำร่องนโยบาย “สมาร์ทไทยแลนด์” จะต้องมีความพร้อมหลายๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากรัฐบาล การเมืองท้องถิ่น และความร่วมมือระหว่างเอกชนกับประชาชน ได้แก่
          นครนายก จังหวัดนำร่องสมาร์ทซิตี้
นครนายกเป็นจังหวัดแรกที่เข้าร่วมโครงการวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างหลายมิติ สาเหตุที่เลือก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เป็นจังหวัดไม่ใหญ่เกินไป มีเพียง 4 อำเภอ แต่มีภูมิประเทศที่แตกต่างกันชัดเจน ทั้งภูเขา แม่น้ำ และมีความพร้อมด้านไอทีในระดับที่ดีอยู่แล้ว
          ภูเก็ต ไอทีซิตี้ จุดเริ่มต้นของสมาร์ทซิตี้
สำหรับภูเก็ตรัฐบาลเคยวางแผนให้เป็นเมืองไอทีซิตี้ (สมัย 2549  ยังไม่นิยมใช้คำว่าสมาร์ทซิตี้) เนื่องจากที่นี่เหมาะที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนด้านไอทีด้วย จึงเหมาะที่จะเป็นที่ทำงานและพักผ่อนไปในตัว
          เชียงใหม่ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ กับนิยามใหม่ “ไมล์ซิตี้” มีดีที่แตกต่าง
นอกเหนือจากจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ภาครัฐและเอกชนได้มีการวางแผนในจังหวัดอื่นๆ แต่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นแตกต่างกันออกไป เช่น พัฒนาเพื่อการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ด้านการประหยัดพลังงาน หรือ ด้านความมั่นคง เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้ Smart City บริหารงานในระบบต่างๆ ได้แก่
บริหารด้านระบบขนส่งและจราจร
การเดินทางกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน และปัญหาจราจรในประเทศไทยก็ยังคงเป็นเรื่องหนักใจที่หลายๆ ส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหา ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” หรือ “Intelligent Transportation System (ITS) “ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้แก้ปัญหาจราจร ระบบนี้ได้รับการพิสูจน์จากหลายประเทศว่าสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ดีในระดับหนึ่ง และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก การนำมาประยุกต์ใช้ที่เราไม่เคยสังเกตในชีวิตประจำวันเช่น  ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลสภาพจราจรผ่านเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น, ระบบCCTVในการตรวจสอบสภาพจราจร, ระบบฉุกเฉิน, ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ, ระบบแผงกั้นไฟสัญญาณเตือนอัตโนมัติ, ระบบไฟฟ้าสว่างภายในทางลอด, โครงการที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ,  ระบบประตูสาชานชาลาอัตโนมัติ และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า
ชุมชนเมืองเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประชากร เมื่อกระจุกตัวมากขึ้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็มากตามไปด้วย จึงมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าขั้นวิกฤติ มีการคิดค้นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกขึ้นมา นำมาโยงกับเทคโนโลยีปัจจุบันเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สิ่งที่เราเห็นใกล้ๆ ตัว เป็นแนวคิดหลักของระบบพลังงานไฟฟ้าเรียกว่า Smart Grid ได้แก่ แอพลิเคชั่นให้ความรู้ข่าวสาร, รถพลังงานไฟฟ้า, มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นดินและหลังคาบ้าน, การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการขยะ
มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า ฉะนั้นจึงได้มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วย หลักๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการรวมและขนส่งขยะ, เทคโนโลยีแปรรูปขยะ, เทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอย  ซึ่งจะทำให้การจัดการกับขยะได้สะดวกและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น  เช่นเราสามารถติดเซนเซอร์ไว้ด้านในฝาถังที่ลับตาคน เพื่อให้รู้ปริมาณขยะและประเภทได้แม่นยำ แถมยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมได้อีกด้วย ถ้าพบสิ่งที่มีอุณหภูมิสูง จะประมวลผลส่งผ่านเครือข่าย 3G  กลับไปบน Cloud แบบ Real time

ระบบบริหารการให้บริการของหน่วยงานราชการ
Smart Government ถือเป็นแนวคิดในการพัฒนาการบริหารงานภาครัฐจากเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาฐานข้อมูลของหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงพื้นฐาน ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการประชาชนโดยการใช้งานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Government ระบบนี้ทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ เกิดทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลได้รวดเร็ว โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินที่ประชนชนมีต่อภาครัฐ
นอกจากนี้ยังมีการนำไปบริหารงานด้านอื่นๆ เช่น ควบคุมความปลอดภัย และระบบตรวจสอบสถานะการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเมือง อีกด้วย
นอกจากการบริหารในประเทศแล้ว ในระดับมหภาคคงจะเกิดกระแสการลงทุนในระดับเมืองของภาคธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อสารโทรคมนาคมเพื่อสร้างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับเมือง รวมทั้งรองรับการขยายตัวของ IOT ที่จะเข้าไปถึงประชาชนในระดับชุมชน ภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์องค์กร จากเมื่อก่อนเป็นผู้ผลิตและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ mass market มาเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ
การปรับเปลี่ยน Position เช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ระหว่างเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สำหรับการให้บริการแบบ Smart City หรือ IOT สำหรับภาครัฐเองก็ได้มีการผลักดันประเทศไทยให้เกิดกระแส Start up City หรือ Thailand 4.0 แต่สุดท้ายประชาชนก็คงต้องมีการปรับตัวและประเมินประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยี เพื่อให้ตัวเองกลายเป็น Smart User เช่นกัน
อ้างอิง: หนังสือ Smart City มิติใหม่ของการจัดการท้องถิ่นยุคไอที



นิยามของเมืองนิเวศน์ (Eco Town)

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในทิศทางการพัฒนาเมืองก็คือ Eco Town หรือเมืองนิเวศน์ ที่ได้วางแนวคิดเกี่ยวกับเมืองที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเป็น
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ต้องเจออยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลือง สู่การเร่งพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ไม่มีการวางแผนที่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดเป็นปัญหาในวงกว้างและระยะยาว โดยตอนนี้ที่สังคมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้วางทิศทางในการพัฒนาเมืองขึ้นมา หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือเมืองนิเวศน์ หรือ Eco Town หมายถึงเมืองที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในเมืองนั้น โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ทำให้เกิดผลเสียแก่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น รวมไปถึงพื้นที่ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันหรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุด สู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ลงตัว
แนวคิดเมืองนิเวศน์หรือ Eco Town ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการสร้างเมืองใหม่ขึ้นภายใต้แนวคิดดังกล่าว และการปรับเปลี่ยนเมืองเก่าให้เป็นเมืองนิเวศน์ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Urban Sustainable Development) 

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP ครั้งที่ 2

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP ครั้งที่ 2 
วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09:00 – 16:00 น.
ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารสภาสถาปนิก
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Cities-Clean Energy
มาร่วมกันสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อให้ประเทศไทยยั่งยืน
ขอเชิญนักสร้างเมือง ที่มีไอเดียทันสมัย ร่วมสัมนาครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอัจฉริยะ พลังงานสะอาด ที่เกิดขึ้นจริงได้โดยฝีมือของนักสร้างเมืองคนไทย
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า ประเทศเราควรมี smart cities ห้ามพลาดงานนี้
ติดต่อ คุณเบญจศิ ทองทา สถาบันอาคารเขียวไทย
โทร 02-318-3358, 084-099-5199 โทรสาร 02-318-3357
อีเมล์ : smartcities.th@gmail.com
www.thailandsmartcities.com

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP

​เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP
วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2559 เวลา 09:00 – 16:00 น.
ณ ห้องสโรชา โรงแรมสวิต โซเทล เลอคองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Cities-Clean Energy
มาร่วมกันสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อให้ประเทศไทยยั่งยืน
ขอเชิญนักสร้างเมือง ที่มีไอเดียทันสมัย ร่วมสัมนาครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอัจฉริยะ พลังงานสะอาด ที่เกิดขึ้นจริงได้โดยฝีมือของนักสร้างเมืองคนไทย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า ประเทศเราควรมี smart cities ห้ามพลาดงานนี้
ติดต่อ คุณเบญจศิ ทองทา สถาบันอาคารเขียวไทย
โทร 02-318-3358, 084-099-5199 โทรสาร 02-318-3357
อีเมล์ : smartcities.th@gmail.com
www.thailandsmartcities.com


เข้าร่วมงานเสวนาผู้บริหาร (TEA TALK) ครั้งที่ 2

ขอเชิญเข้าร่วมงานเสวนาผู้บริหาร (TEA TALK) ครั้งที่ 2 โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (SMART Cities-Clean Energy)
วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 13:00 – 15:30 น. ณ ห้องสุขุมวิท โรงแรมเชอราตัน ถนนสุขุมวิท
สามารถดาวน์โหลดแบบตอบรับการเข้าร่วมงาน ได้ที่ https://goo.gl/al9oFM


ชุมชนญี่ปุ่น สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้ากันเองได้

ประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดการให้ชุมชนสามารถผลิตและใช้ไฟฟ้ากันเองได้ภายในชุมชน โดยมีระบบโซล่าเซลล์และที่สำรองพลังงานไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป้าหมายของชุมชนคือลดการใช้พลังงานและลดสารคาร์บอนไดออกไซด์



อัจฉริยะสุดๆ กับ อัมสเตอร์ดัม

อัจฉริยะสุดๆ กับ อัมสเตอร์ดัมเมืองที่บ้านเรือนหลายหลังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แถมยังมีจุดชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์รองรับ แทนการเติมน้ำมันดีเซล



ซานดิเอโก้ เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซานดิเอโก้ กำลังสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรถประจำทางไฟฟ้าคอยให้บริการ พร้อมจุดจ่ายไฟตามทางเพื่อเติมแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ทุกชนิด แล้วยังพัฒนาระบบออโตเมชั่น ในบ้านพักอาศัยด้วย เป็นระบบที่จะทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด แถมยังมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อีกต่งหาก


เกณฑ์ประเมิน Smart City มีอะไรบ้าง?

เกณฑ์ประเมิน Smart City มีอะไรบ้าง?


คำว่า Smart City ที่เกี่ยวกับการออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการลดปัญหามลภาวะต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาด สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ สถาบันอาคารเขียวไทยได้จัดทำเกณฑ์ประเมิน Smart City มีทั้งหมด ๗ หมวดด้วยกัน ได้แก่

1. พลังงานอัจฉริยะ (smart energy)

ตัวชี้วัดพลังงานอัจฉริยะประกอบด้วยค่าพลังงานการใช้ต่อประชากร การผลิตพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานณ จุดใช้งานการสะสมพลังงาน ระบบทำความเย็นและความร้อนรวมศูนย์ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า

2. การสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยการวางผังโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงาน ระบบการจ่ายน้ำ ระบบการขนส่ง ระบบโดยสารสาธารณะ การบริหารที่จอดรถ การส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน การจัดเตรียมสถานพยาบาล ระบบฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัย สถานศึกษา สถานที่ท่องเที่ยว การบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย

3. ชุมชนอัจฉริยะ (smart community)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ 

4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยการรักษาสภาพแวดล้อม ป่าไม้ พืชพันธ์ ระบบนิเวศน์ การส่งเสริมการเกษตร แหล่งผลิตอาหารในเมือง สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ มลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางอากาศ  ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยโมเดลทางธุรกิจ นวัตกรรมรูปแบบการลงทุน ความสร้างความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วน การบริหารรายได้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเมืองที่ยั่งยืน การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเขต

6. อาคารอัจฉริยะ (smart building)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย การพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ระบบอาคาร/ บ้านอัจฉริยะ

7. การปกครองอัจฉริยะ (smart governance)

ตัวชี้วัดประกอบด้วยหลักความเป็นเมืองอัจฉริยะ ภาวะความเป็นผู้นำ ยุทธศาสตร์ โครงสร้างองค์กร กระบวนการบริหารจัดการ ระบบการวัดผลสำเร็จ

10 เมืองสุดยอด SMART CITY ในโลก

10 เมืองสุดยอด SMART CITY ในโลก


Smart City ระบบเมืองอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีหลายด้านเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงการวางผังเมืองที่ฉลาด รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ซึ่งมีอยู่หลายประเทศด้วยกันที่จัดเป็น Smart City ที่มีคุณภาพ วันนี้เราก็มี 10 เมืองมาฝากกับสุดยอด Smart City ในโลก 

10 บาร์เซโลนา ประเทศสเปน

ประเดิมด้วยอันดับที่ 10 ของโลกของการเป็นเมือง Smart City นั่นก็คือเมืองบาร์เวลโลนา ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสเปน มีการบูรณาการวางผังเมือง นิเวศวิทยา และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเชื่อมต่อประชาชนเมืองได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นเมืองแรกของโลกที่ออกกฎหมายมาสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ได้แก่ Solar Thermal Ordinance มาเป็นเวลานับทศวรรษ 

9 ฮ่องกง ประเทศจีน

ฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งเมือง Smart City ที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันฮ่องกงมีการใช้เทคโนโลยี RFID (Radio-frequency Identification) คือ การเก็บข้อมูลหรือระบุข้อมูลแบบอัตโนมัติ รับสัญญาณจากแท็กเข้าสู่ตัวสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุขนาดเล็ก โดยสามารถบันทึกข้อมูลในแท็กมาใช้ในสนามบิน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ประชาชนใช้ สมาร์ทการ์ด ในการชำระค่าบริการขนส่งสาธารณะ การผ่านเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ และลานจอดรถ

8 โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก ที่ถือเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย เมืองนี้ประชาชนส่วนใหญ่ใช้จักรยานกันอย่างแพร่หลาย เป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับ มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนจักรยาน ทั้งยังเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้นวัตกรรมสีเขียว มีการใช้ระบบอัจฉริยะในการควบคุมไฟบนท้องถนน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในที่สาธารณะ เป็นต้น โคเปนเฮเกนยังได้ทำพันธะสัญญาที่จะสร้างแนวคิด คาร์บอนสมดุล คือ ภาวะที่ผลลัพธ์ของการกระทำโดยรวมไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนสุทธิ (Net Carbon) ขึ้นในชั้นบรรยากาศ และรณรงค์ให้ประชากรใช้จักรยานในการเดินทางร้อยละ 40 ภายใน พ.ศ. 2568

7 เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี 

กรุงเบอร์ลินเป็นเมืองที่มีการใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะการทดลองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยการวางเครือข่ายสถานีเติมไฟ หรือ V2G (Vehicle-to-Grid) ในเมือง เป็นการสนับสนุนให้ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

6 โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เมืองแห่งโลกดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ และเมื่อไม่นานมานี้ยังได้สร้าง เมืองอัจฉริยะ ขึ้นบริเวณชานเมืองที่ประกอบไปด้วยบ้านที่มีแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และพลังงานที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นอกจากนี้ บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นอย่าง นิสสัน ยังเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าตัวแรก คือ นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านพลังงานและลดมลพิษในอากาศอีกด้วย

5 ลอนดอน สหราชอาณาจักร

เมืองที่มีนวัตกรรมสีเขียวมากมาย มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตจราจรหนาแน่น อย่างในใจกลางกรุงลอนดอน ในเวลา 07.00 น.-18.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ วันปีใหม่ และวันคริสต์มาส เพื่อลดการจราจรในเมือง และเป็นการส่งเสริมการขนส่งสาธารณะในเมือง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการสร้าง/ปรับปรุงบ้านเพื่อเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

4 นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เมืองที่กำลังเตรียมก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านการสื่อสาร ซึ่งในปัจจุบันได้มีการสร้างรูปแบบให้ประชาชนในเมืองมีส่วนร่วม (Interactive Platform) โดยการติดตั้งหน้าจอแสดงข้อมูลข่าวสารในที่ต่าง ๆ แทนที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้เมืองมีความปลอดภัยและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องมืออัจฉริยะ ระบบเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ ที่สามารถเฝ้าติดตามและพัฒนาการจราจร และปกป้องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

3 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

อีกหนึ่งเมืองที่อัจฉริยะอย่างโดดเด่น พร้อมทั้งด้านนวัตกรรม และการบริหารจัดการด้วยระบบดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จเรื่องจักรยานสาธารณะ หรือ Velib และยังมีการเปิดตัวรถไฟฟ้าสาธารณะขนาดเล็ก (EVs) หรือ Autolib เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในเมืองอีกด้วย

2 โทรอนโต ประเทศแคนาดา

เมืองโทรอนโต เป็นสมาชิกของกลุ่ม C40 (Clinton 40)  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำการรณรงค์ด้านสภาวะอากาศในเมืองใหญ่ 40 เมืองทั่วโลก เพื่อหาแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หน่วยงานภาคเอกชนในเมืองโทรอนโซยังร่วมในการาสร้าง Smart Commute Toronto เพื่อช่วยกันลดปัญหาการจราจรและมลพิษในเมือง โดยการสนับสนุนให้ใช้จักรยานและอำนวยความสะดวกข้อมูล เช่น เครือข่ายผู้ใช้รถจักรยาน การซ่อมบำรุงและพื้นที่การจอด นอกจากนี้ เมืองโทรอนโตยังมีการใช้ก๊าซธรรมชาติจากหลุมฝังกลบมาเป็นพลังงานให้กับรถบรรทุกขยะในเมือง 

1 เวียนนา ประเทศออสเตรเลีย

ปิดท้ายด้วย Smart City ที่ดีที่สุดในโลกอย่างเวียนนา เมืองที่อุดมไปด้วยนวัตกรรม มีเขตเมืองสีเขียวถูกตั้งเป้าหมายให้ได้มากที่สุด มีการใช้พลังงานทดแทนถึง 14% มีโรงงานผลิตพลังงานชีวภาพใหญ่ที่สุดในยุโรป และมีเป้าหมายที่จะติดตั้ง แผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panels) ให้ได้ 300,000 ตารางเมตรในปี 2020 และมีการบริหารจัดการแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้วางวิสัยทัศน์และโครงการต่าง ๆ มากมาย เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart City เต็มรูปแบบ ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การขนส่ง และการวางแผนการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

อาคารเขียว คืออะไร?

อาคารเขียว คืออะไร?

อาคารเขียว คือ อาคารที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง การใช้น้ำ และการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกับก็ลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อมตลอดอายุอาคาร ซึ่งทำได้โดยการเลือกที่ตั้งอาคาร การวางผังอาคาร การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การบริหารจัดการในระหว่างก่อสร้าง ใช้งาน และบำรุงรักษา ที่ดีกว่าอาคารโดยทั่วไป

Smart City คืออะไร?

Smart City คืออะไร?

Smart City คือ เมืองที่ได้รับการออกแบบ โดยให้ความสำคัญในสามองค์ประกอบหลัก คือ 
  1. การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ
  2. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และ 3) การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ ที่เรียกว่า Smart Grid ระบบมิเตอร์อัตโนมัติ ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ ระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และระบบตรวจวัดมลภาวะ