Smart City ดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ที่เป็นแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยความสะดวกสบาย พร้อมกับแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างชาญฉลาด ผลที่ได้รับจากแผนพัฒนาดังกล่าวยังส่งต่อหลากหลายด้านด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคม
Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ จะช่วยให้การผลิตและการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่งมีประสิทธิภาพ สืบเนื่องมาจากการประหยัดพลังงาน พร้อมด้วยระบบคมนาคมขนส่งที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งส่วนมากใช้การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว
ทั้งนี้แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเมือง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีประสิทธิภาพจะช่วยดึงดูดธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามารวมตัวอยู่ในพื้นที่ และช่วยดึงดูดแรงงานขั้นสูง (High-skilled Worker) ให้เข้ามา ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นแผนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคม ด้วยเทคโนโลยีและระบบการจัดการต่างๆ ซึ่งสังคมจะได้รับการพัฒนาและได้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
1) ประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินธุรกิจ จากการประหยัดพลังงาน และการมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเมือง ด้วยการดึงดูดธุรกิจต่างๆ และแรงงานขั้นสูง (High-skilled Worker) ให้เข้ามารวมตัวอยู่ในพื้นที่เนื่องจากความได้เปรียบในการลงทุน
2) ประโยชน์ต่อด้านสังคมและวัฒนธรรม
เมื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น จะส่งผลให้สามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือสัมผัสกับวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น มีโอกาสในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
3) ประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อม
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการปล่อย CO2 การควบคุมการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ หรือการจัดเก็บและกำจัดขยะที่เหมาะสม รวมถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว
นอกจากนี้ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังสามารถออกแบบสำหรับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่หรือดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภค มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง เพื่อประเมินการอุปโภคภายในพื้นที่เมืองได้ สู่การประมวลผลเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบต่างๆ สู่ Smart City ที่สมบูรณ์

โครงการเมืองอัจฉริยะมีแผนพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อผลักดันพื้นที่ของแต่ละเมืองให้มีลักษณะเป็นเมืองอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ที่สะดวกและสบายของคนในพื้นที่นั้นๆ ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบในการพัฒนาเมือง ได้แก่
1) การพัฒนาเมืองใหม่
การพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Development) คือ การสร้างเมืองใหม่ในเขตพื้นที่ธรรมชาติ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สาธารณูปการ ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน ย่านพาณิชยกรรม และพื้นที่พักผ่อน
2) การพัฒนาฟื้นฟูเมือง
การพัฒนาฟื้นฟูเมือง (Urban Redevelopment) คือ การปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้ดีขึ้น พร้อมกับการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด และเพิ่มอาคารประหยัดพลังงานในพื้นที่
3) การพัฒนาระบบบริการจัดการเมือง
การพัฒนาระบบบริหารจัดการเมือง (Development of Urban Management System) คือ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการควบคุมการให้บริการสาธารณูปโภค การให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จที่แท้จริงคือความสำเร็จที่ลงมือทำ

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย 
เผยโฉม 16 โครงการ เมืองอัจฉริยะต้นแบบ Smart Cities-Clean Energy 
กระทรวงพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เผยความสำเร็จหลังจุดประกายโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบเป็นครั้งแรก ได้รับการตอบรับจากภาครัฐและเอกชนที่ตระหนักในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เข้าร่วมประกวดถึง 36 โครงการฯ ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 1 ทั้งสิ้น16 โครงการ ดังนี้
1. ชุมชนเมืองเสาธงหิน SMART Cities 
2. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
3. ราชบุรี สมาร์ท อินดัสเตรียล ซิตี้ 
4. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง
5. H.I.P. Smart City
6. มมส.วิทยาเขตชาญฉลาด
7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง
8. มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด
9. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน
10. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ
11. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ
12. สยาม สมาร์ท ซิตี้
13. สุวรรณภูมิ สมาร์ท ซิตี้
14. กฟผ. เมืองนิเวศแห่งความสุข+
15. พญาไท 4.0 ของคนไทยเพื่อคนไทย - โอกาสและทางเลือกของคนไทยทุกคน
16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : สุรภิวัฒน์มัชฌิมาธานี
ในลำดับต่อไปผู้ผ่านขั้นตอนที่ 1 ทั้ง 16 โครงการนี้ จะต้องจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) โดยข้อเสนอที่เป็นที่ดีที่สุดจะได้รับการคัดเลือกเหลือไม่เกิน 7 โครงการ และจะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันอาคารเขียวไทย E-mail : smartcities.th@gmail.com หรือ www.thailandsmartcities.com