​รู้จักกับอาคารประหยัดพลังงาน อาคารเขียว อาคารคาร์บอนต่ำ

รู้จักกับอาคารประหยัดพลังงาน อาคารเขียว อาคารคาร์บอนต่ำ
                การสร้างอาคารในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามและพื้นที่สำหรับการใช้งานแล้ว การประหยัดพลังงานก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ที่สำคัญ เพราะการประหยัดพลังงาน จะทำให้เรามีพลังงานใช้ต่อไปได้ในระยะยาว และยังดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
                อาคารเขียว คือ อาคารที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง การใช้น้ำ และการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกับก็ลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อมตลอดอายุอาคาร ซึ่งทำได้โดยการเลือกที่ตั้งอาคาร การวางผังอาคาร การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การบริหารจัดการในระหว่างก่อสร้าง ใช้งาน และบำรุงรักษา ที่ดีกว่าอาคารโดยทั่วไป
                นอกจากนี้ยังมีแนวคิดของ อาคารคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Building ที่ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่เกิดจากการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในอาคารและจากกิจกรรมต่างๆ ของผู้ใช้อาคาร ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยการให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงานใช้ภายในอาคาร ตลอดจนมีการบริหารจัดการขยะหรือของเสียภายในอาคารที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
                ด้วยแนวคิดของอาคารเขียว และ อาคารคาร์บอนต่ำ ในอนาคตเราอาจพัฒนาไปถึงระดับที่ได้อาคารที่มีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) หรือเป็นอาคาร Neutral Carbon Building ซึ่งเป็นอาคารที่นอกจากจะมีการดำเนินการตามแนวทางของอาคารเขียวแล้ว ยังมีการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับใช้ในอาคารได้อย่างเพียงพอกับปริมาณการใช้พลังงานในอาคารนั้นๆ อีกด้วย

แนวคิดพัฒนาระบบขนส่งและการจราจรบนถนนให้รถยนต์ช่วยตัดสินใจ

แนวคิดพัฒนาระบบขนส่งและการจราจรบนถนนให้รถยนต์ช่วยตัดสินใจ
บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
            จากโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มุ่งเน้นให้เมืองให้มีความง่ายและสะดวกให้คนในเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเข้าไปปรับใช้ได้อย่างลงตัว ในระบบต่างๆ รวมถึงระบบขนส่งและการจราจร วันนี้เราก็มีแนวคิดหนึ่งมาฝากภายใต้คำจำกัดความ ITS : ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ( Intelligent transportation system)
            ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ITS ( Intelligent transportation system) ไม่ใช่ชื่อของเทคโนโลยีโดยตรงแต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกแนวคิดของการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม มาใช้ปรับปรุงการขนส่งและการจราจร โดยมีหัวใจหลักสำคัญคือการประมวลผลข้อมูลและข้อสนเทศที่มีอยู่ผ่านระบบสารสนเทศและการสื่อสาร และนำมาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการ
            ระบบที่อัจฉริยะของ ITS ( Intelligent transportation system)  คือการเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีก่อนหน้า ยกตัวอย่าง เช่น หากรถยนต์มีอุปกรณ์ ที่สามารถสื่อสารและรับข้อมูลปริมาณการจราจรเพื่อวิเคราะห์และให้คำแนะนำแก่ผู้ขับขี่ได้ว่า เส้นทางใดเป็นเส้นทางที่เหมาะสมในขณะนั้น ต่างจากเดิมที่ผู้ขับจะต้องตัดสินเอง ความสามารถของระบบที่เพิ่มขึ้นนี้ถือได้ว่ามีความอัจฉริยะ อาจก้าวหน้าถึงขั้นเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ เช่น รถยนต์สามารถขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติและติดต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์กันได้เอง ตลอดจนติดต่อสื่อสารกับศูนย์ข้อมูลจราจรเพื่อสอบถามข้อมูล ปริมาณการจราจร จุดเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือจุดที่มีการก่อสร้าง เพื่อวิเคราะห์และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการเดินทาง รวมถึงรายงานสภาพการณ์บนท้องถนน การติดตามรถ หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางโดยอัตโนมัติ
            ปัจจุบันระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ITS ( Intelligent transportation system) เน้นไปที่การขนส่งและจราจรบนถนนเป็นหลักเนื่องจากเป็นประเภทการเดินทางที่เกิดขึ้นมากที่สุด และยังกระทบกับประชาชนจำนวนมาก

ระบบความปลอดภัยในการขับขี่ ตรวจจับสิ่งกีดขวาง แม้คนข้ามก็รู้ล่วงหน้า


ระบบความปลอดภัยในการขับขี่ ตรวจจับสิ่งกีดขวาง แม้คนข้ามก็รู้ล่วงหน้า
            จะดีแค่ไหนถ้าขณะขับรถยนต์สามารถรู้ข้อมูลล่วงหน้าถึงสิ่งกีดขวางที่ไม่ได้อยู่ในระยะสายตา และสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างทันท่วงที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการขับขี่ได้อย่างอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถรักษาชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ขับขี่เอง หรือผู้ข้ามถนนหรือสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้ด้วย วันนี้เราก็มีระบบ Assistance for Safe Driving มานำเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเมืองอัจฉริยะเช่นกัน
            ระบบช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ (Assistance for Safe Driving) เป็นระบบที่มีการติดตั้งตัวเก็บข้อมูลในบริเวณต่างๆ บนท้องถนนโดยการรวบรวมข้อมูลของตำแหน่ง และการเคลื่อนที่ของยานพาหนะในบริเวณรอบๆ รวมไปถึงสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้า โดยผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนถนนและที่ตัวรถ
            หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกจัดส่งให้กับผู้ขับขี่รถแต่ละคนในขณะนั้นแบบ Real Time ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ขับขี่เดินทางได้อย่างปลอดภัย ระบบดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ผู้ขับขี่ได้รับข้อมูลหรือการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่แล้ว ยังนำมาใช้เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วย เช่น การมีเซ็นเซอร์ตรวจจับคนข้ามถนน ในบริเวณทางโค้งหักศอกที่เป็นมุมอับสายตาสำหรับผู้ขับขี่ หรือตรวจจับและระวังการวิ่งตัดหน้ารถโดยเด็กเล็กหรือผู้ที่ขาดความระมัดระวัง
            นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่วิ่งหรือกำลังจะวิ่งมาตัดหน้า ตรวจจับสภาพอากาศและสภาพถนน  เพื่อเตือนในกรณีที่ถนนลื่น หรือทัศนวิสัยไม่ดีก่อนที่จะขับขี่ไปถึงบริเวณดังกล่าว ในอนาคตอันใกล้อาจมีอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในรถเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการควบคุมรถ เช่น ระบบช่วยเบรคหรือควบคุมพวงมาลัยแบบอัตโนมัติ เมื่อพบสิ่งกีดขวาง และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ใน ตัวรถยนต์ ก็สามารถส่งข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับรถยนต์คันอื่นๆ หรือกับเซ็นเซอร์ข้างถนนได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเตือนให้รถยนต์หรือผู้ใช้ทางเท้าได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือเพื่อให้เกิดความระมัดระวังเพิ่มขึ้น

แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

เทคโนโลยีประกอบการพัฒนาพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีความสามารถช่วยและประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์เมือง และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจมีเป้าหมายได้หลากหลาย
เป้าหมายสำคัญของการพัฒเมืองอัจฉริยะ เช่น การลดปริมาณการปล่อย CO2 การควบคุมการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ หรือการจัดเก็บและกำจัดขยะที่เหมาะสม รวมถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสีย และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุด ผลที่ได้จากเป้าหมายเหล่านี้คือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
การคมนาคมขนส่งเป็นอีกกิจกรรมที่สร้างผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่เมือง เนื่องจากรูปแบบการขนส่งมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานและมลภาวะทางอากาศโดยตรง ดังนั้นการออกแบบให้มีการคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังสามารถออกแบบสำหรับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่หรือดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภค มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง เพื่อประเมินการอุปโภคภายในพื้นที่เมืองได้ และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำระบบการติดตามข้อมูลมาใช้จริงในหลายเมืองของโลกแล้ว

แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีประโยชน์ต่อด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร?

แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะช่วยผลักดันสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สู่ความเป็นอยู่ของคนในเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งความสะดวกสบาย รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสุขภาพที่ดีและจิตใจที่ดีพร้อมๆ กัน โดยแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านรวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้
การยกระดับชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่โครงการเมืองอัจฉริยะ ทำให้สามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือสัมผัสกับวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น มีโอกาสในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นต่างๆ ได้แก่
  • การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นองค์ประกอบในเมืองอัจฉริยะสามารถพัฒนาต่อยอดในการที่จะช่วยยกระดับการศึกษา และการเผยแพร่ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น สร้างฐานข้อมูลทางการศึกษาเพื่อเยาวชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนทุกวัย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้
  • การให้บริการด้านสาธารณสุข ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถช่วยในเรื่องของการบริการสาธารณสุขได้ เช่น จัดการข้อมูลประวัติ สิทธิประโยชน์ของผู้ป่วย การตรวจสอบและแจ้งเตือนการนัดหมายการบริการรักษาพยาบาล การปรึกษาแพทย์และปฐมพยาบาลเบื้องต้น การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล
  • การรักษาความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถประยุกต์ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงการรักษาความปลอดภัยจากอาชญากรรมด้วยระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) การควบคุมไฟแสงสว่างถนนเพื่อความปลอดภัย การจัดเก็บข้อมูลอาชญากรรมเพื่อจัดการพื้นที่เสี่ยง ระบบเรียนรู้และจดจำใบหน้า การแจ้งเตือนเหตุไฟไหม้และเหตุฉุกเฉินพร้อมระบบเปิดไฟสัญญาณจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถฉุกเฉินเหล่านั้น และการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น