การพัฒนาเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่มาของการพัฒนาเมืองเกิดจากปัญหาสังคมที่เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของจำนวนประชากร ทำให้เกิดปัญหาแออัด การจราจรติดขัด การใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ ที่ส่งผลต่อระบบในสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ที่เผชิญเหมือนกัน และเพื่อรองรับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ทำให้ปัญหาดังกล่าวต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือที่มาสำคัญของแนวคิดพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว ที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพียงด้านเดียว
ทิศทางการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่รองรับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอาใจใส่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใส่ใจระบบนิเวศน์ให้มีความสมดุล ช่วยลดปัญหาการแออัด ปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะล้นเมือง ความเสื่อมโทรมของสาธารณูปโภค ฯลฯ ทิศทางการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้มีรูปแบบการพัฒนาประกอบไปด้วย เมืองสีเขียว (Green City) เมืองนิเวศน์ (Eco Town) (รวมถึงเมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco Industrial Town) เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Town) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของเมืองสีเขียว มีอะไรบ้าง?

เมืองสีเขียว หรือ Green City ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของทิศทางการพัฒนาเมือง เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่สีเขียวตามสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติ สภาพกึ่งธรรมชาติและสภาพเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อการใช้งานหรือประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต โดยวัตถุประสงค์สำคัญของเมืองสีเขียว ได้แก่
1.สร้างสรรค์ความกลมกลืนและสมดุลย์ระหว่างการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่เมืองกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ยังต้องอาศัยและพึ่งพากัน
2. ปรับปรุงพื้นที่เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ หรือในพื้นที่เมืองเดิมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในเมืองและระบบโดยรอบเมืองให้ดีขึ้น
3. ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง และรักษาสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่หรือให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานของเมืองหรือผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ
4. ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินจำเป็น เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

คุณสมบัติของ Green City หรือเมืองสีเขียว

ทำความรู้จักกับคำว่า Green City หรือเมืองสีเขียวกันก่อน คือเมืองที่มีต้นไม้พืชพันธุ์หรือพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ต่อการใช้งานดำรงชีวิตของประชากรเมือง ทั้งตามสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติ สภาพกึ่งธรรมชาติและสภาพเลียนแบบธรรมชาติ ที่ทำขึ้นให้เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของเมืองเมืองนั้น ที่สำคัญคือจะต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งต่อดิน น้ำและอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น แก้ไขปัญหาความยากจนและชุมชนแออัด ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีความเท่าเทียมในการอยู่อาศัย และมีโอกาสในการศึกษาหรือการทำงานในเมืองนั้นๆ
นอกจากเมืองสีเขียวจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้เมืองสามารถวางแผนพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานและงบประมาณของพื้นที่และองค์รวมในระดับประเทศและภูมิภาคได้ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
หลักการสำคัญของเมืองสีเขียวคือ ทำให้พื้นที่เมืองมีพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ควบคุมการใช้พื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อให้เหลือพื้นที่สีเขียวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และส่งเสริมการเป็นเมืองที่ยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งด้านพลังงาน อาหาร น้ำ ขยะและของเสีย โดยเน้นการสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองนั้นๆ

ทำอย่างไรให้เป็น “เมืองสีเขียว”

เมืองสีเขียว หรือ Green City ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในทิศทางการพัฒนาเมือง เบื้องต้นทราบแล้วว่าเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว สู่การใช้งานที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ส่วนวิธีการทำให้เป็นเมืองสีเขียวนั้น ได้แก่
1) การเพิ่มสวนหรือพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น ต่อคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ การลดและระบายความร้อน และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้งานเพื่อนันทนาการและช่วยให้ภูมิทัศน์เมืองมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย
2) การให้ความสำคัญกับการใช้แหล่งพลังงานสะอาด พลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและแสงแดด ซึ่งพลังงานเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นพลังงานที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด แต่อาจจะต้องอาศัยการวางแผนการจัดการเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการใช้งาน
3) อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถควบคุมให้ส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆให้น้อยที่สุด การใช้พลังงานหรือน้ำในอาคาร ควรสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่และสิ้นเปลืองการใช้งานน้อยที่สุด การเกิดขยะหรือสิ่งเหลือใช้จากอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในทุกขั้นตอน จะต้องมีน้อยที่สุด และสามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์
4) ระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดการสร้างมลภาวะในพื้นที่ มีระบบโครงข่ายการสัญจรที่เชื่อมต่อครอบคลุมกัน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ได้เกือบทั้งหมดของพื้นที่ และควรเน้นการเดินทางด้วยระบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินเท้าและเส้นทางจักรยาน
5) ควบคุมพื้นที่เมืองให้มีความหนาแน่นในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม จะช่วยควบคุมการขยายตัวอย่างไร้ทิศทางไปในแนวราบของเมืองได้เป็นอย่างดี ทำให้เมืองมีการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ดั้งเดิมตามธรรมชาติอย่างจำกัด จึงไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดการรบกวนพื้นที่เหล่านี้เกินความจำเป็น
ทั้งหมดนี้คือวิธีการของการทำให้เป็นเมืองสีเขียว ซึ่งช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหามลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีการใช้พลังงานที่สะอาด คือทิศทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญ

เมืองอัจฉริยะ (Smart City) บริหารด้วยไอทีจากไอเดีย

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
Smart city เป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลและโทรคมนาคมใช้ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลที่ได้รับ
            คำจำกัดความของ Smart City ถูกใช้อย่างหลากหลายทั่วโลก มักจะให้ความหมายที่หลากหลายสอดคล้องกัน สรุปได้ว่า รูปแบบเมืองอัจฉริยะจึงควร”เป็นเมืองที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตในเมืองๆ นั้นดีขึ้น ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลงอย่างยั่งยืน” ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ
  • Efficient การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพที่มากที่สุด
  • Sustainable มีความยั่งยืน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุน
  • Liveable คุณภาพชีวิตของคนอยู่อาศัยต้องดี
ในเมืองใหญ่ๆ ล้วนต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนเราจะเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทีทำงานโดยใช้ทางด่วนหรือทางหลวง เราก็สามารถตรวจสอบสภาพจราจรบนเส้นทางเรียลไทม์ (Real Time) เราสามารถทราบระยะเวลาการเดินทาง (Travel Time) บนเส้นทางได้ การแจ้งเตือนอุบัติเหตุ (Incident Detection) โดยเข้าไปเปิดที่เว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นสำหรับรายงานสภาพจราจร

จังหวัดที่จะยกระดับให้เป็นเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
เมืองหรือจังหวัดที่จะนำร่องนโยบาย “สมาร์ทไทยแลนด์” จะต้องมีความพร้อมหลายๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากรัฐบาล การเมืองท้องถิ่น และความร่วมมือระหว่างเอกชนกับประชาชน ได้แก่
          นครนายก จังหวัดนำร่องสมาร์ทซิตี้
นครนายกเป็นจังหวัดแรกที่เข้าร่วมโครงการวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างหลายมิติ สาเหตุที่เลือก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เป็นจังหวัดไม่ใหญ่เกินไป มีเพียง 4 อำเภอ แต่มีภูมิประเทศที่แตกต่างกันชัดเจน ทั้งภูเขา แม่น้ำ และมีความพร้อมด้านไอทีในระดับที่ดีอยู่แล้ว
          ภูเก็ต ไอทีซิตี้ จุดเริ่มต้นของสมาร์ทซิตี้
สำหรับภูเก็ตรัฐบาลเคยวางแผนให้เป็นเมืองไอทีซิตี้ (สมัย 2549  ยังไม่นิยมใช้คำว่าสมาร์ทซิตี้) เนื่องจากที่นี่เหมาะที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนด้านไอทีด้วย จึงเหมาะที่จะเป็นที่ทำงานและพักผ่อนไปในตัว
          เชียงใหม่ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ กับนิยามใหม่ “ไมล์ซิตี้” มีดีที่แตกต่าง
นอกเหนือจากจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ภาครัฐและเอกชนได้มีการวางแผนในจังหวัดอื่นๆ แต่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นแตกต่างกันออกไป เช่น พัฒนาเพื่อการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ด้านการประหยัดพลังงาน หรือ ด้านความมั่นคง เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้ Smart City บริหารงานในระบบต่างๆ ได้แก่
บริหารด้านระบบขนส่งและจราจร
การเดินทางกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน และปัญหาจราจรในประเทศไทยก็ยังคงเป็นเรื่องหนักใจที่หลายๆ ส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหา ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” หรือ “Intelligent Transportation System (ITS) “ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้แก้ปัญหาจราจร ระบบนี้ได้รับการพิสูจน์จากหลายประเทศว่าสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ดีในระดับหนึ่ง และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก การนำมาประยุกต์ใช้ที่เราไม่เคยสังเกตในชีวิตประจำวันเช่น  ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลสภาพจราจรผ่านเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น, ระบบCCTVในการตรวจสอบสภาพจราจร, ระบบฉุกเฉิน, ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ, ระบบแผงกั้นไฟสัญญาณเตือนอัตโนมัติ, ระบบไฟฟ้าสว่างภายในทางลอด, โครงการที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ,  ระบบประตูสาชานชาลาอัตโนมัติ และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า
ชุมชนเมืองเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประชากร เมื่อกระจุกตัวมากขึ้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็มากตามไปด้วย จึงมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าขั้นวิกฤติ มีการคิดค้นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกขึ้นมา นำมาโยงกับเทคโนโลยีปัจจุบันเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สิ่งที่เราเห็นใกล้ๆ ตัว เป็นแนวคิดหลักของระบบพลังงานไฟฟ้าเรียกว่า Smart Grid ได้แก่ แอพลิเคชั่นให้ความรู้ข่าวสาร, รถพลังงานไฟฟ้า, มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นดินและหลังคาบ้าน, การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการขยะ
มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า ฉะนั้นจึงได้มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วย หลักๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการรวมและขนส่งขยะ, เทคโนโลยีแปรรูปขยะ, เทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอย  ซึ่งจะทำให้การจัดการกับขยะได้สะดวกและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น  เช่นเราสามารถติดเซนเซอร์ไว้ด้านในฝาถังที่ลับตาคน เพื่อให้รู้ปริมาณขยะและประเภทได้แม่นยำ แถมยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมได้อีกด้วย ถ้าพบสิ่งที่มีอุณหภูมิสูง จะประมวลผลส่งผ่านเครือข่าย 3G  กลับไปบน Cloud แบบ Real time

ระบบบริหารการให้บริการของหน่วยงานราชการ
Smart Government ถือเป็นแนวคิดในการพัฒนาการบริหารงานภาครัฐจากเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาฐานข้อมูลของหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงพื้นฐาน ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการประชาชนโดยการใช้งานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Government ระบบนี้ทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ เกิดทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลได้รวดเร็ว โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินที่ประชนชนมีต่อภาครัฐ
นอกจากนี้ยังมีการนำไปบริหารงานด้านอื่นๆ เช่น ควบคุมความปลอดภัย และระบบตรวจสอบสถานะการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเมือง อีกด้วย
นอกจากการบริหารในประเทศแล้ว ในระดับมหภาคคงจะเกิดกระแสการลงทุนในระดับเมืองของภาคธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อสารโทรคมนาคมเพื่อสร้างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับเมือง รวมทั้งรองรับการขยายตัวของ IOT ที่จะเข้าไปถึงประชาชนในระดับชุมชน ภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์องค์กร จากเมื่อก่อนเป็นผู้ผลิตและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ mass market มาเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ
การปรับเปลี่ยน Position เช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ระหว่างเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สำหรับการให้บริการแบบ Smart City หรือ IOT สำหรับภาครัฐเองก็ได้มีการผลักดันประเทศไทยให้เกิดกระแส Start up City หรือ Thailand 4.0 แต่สุดท้ายประชาชนก็คงต้องมีการปรับตัวและประเมินประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยี เพื่อให้ตัวเองกลายเป็น Smart User เช่นกัน
อ้างอิง: หนังสือ Smart City มิติใหม่ของการจัดการท้องถิ่นยุคไอที



นิยามของเมืองนิเวศน์ (Eco Town)

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในทิศทางการพัฒนาเมืองก็คือ Eco Town หรือเมืองนิเวศน์ ที่ได้วางแนวคิดเกี่ยวกับเมืองที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเป็น
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ต้องเจออยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลือง สู่การเร่งพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ไม่มีการวางแผนที่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดเป็นปัญหาในวงกว้างและระยะยาว โดยตอนนี้ที่สังคมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้วางทิศทางในการพัฒนาเมืองขึ้นมา หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือเมืองนิเวศน์ หรือ Eco Town หมายถึงเมืองที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในเมืองนั้น โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ทำให้เกิดผลเสียแก่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น รวมไปถึงพื้นที่ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันหรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุด สู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ลงตัว
แนวคิดเมืองนิเวศน์หรือ Eco Town ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการสร้างเมืองใหม่ขึ้นภายใต้แนวคิดดังกล่าว และการปรับเปลี่ยนเมืองเก่าให้เป็นเมืองนิเวศน์ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Urban Sustainable Development) 

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP ครั้งที่ 2

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP ครั้งที่ 2 
วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09:00 – 16:00 น.
ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารสภาสถาปนิก
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Cities-Clean Energy
มาร่วมกันสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อให้ประเทศไทยยั่งยืน
ขอเชิญนักสร้างเมือง ที่มีไอเดียทันสมัย ร่วมสัมนาครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอัจฉริยะ พลังงานสะอาด ที่เกิดขึ้นจริงได้โดยฝีมือของนักสร้างเมืองคนไทย
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า ประเทศเราควรมี smart cities ห้ามพลาดงานนี้
ติดต่อ คุณเบญจศิ ทองทา สถาบันอาคารเขียวไทย
โทร 02-318-3358, 084-099-5199 โทรสาร 02-318-3357
อีเมล์ : smartcities.th@gmail.com
www.thailandsmartcities.com

เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP

​เมืองอัจฉริยะ SMART CITY WORKSHOP
วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2559 เวลา 09:00 – 16:00 น.
ณ ห้องสโรชา โรงแรมสวิต โซเทล เลอคองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Cities-Clean Energy
มาร่วมกันสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อให้ประเทศไทยยั่งยืน
ขอเชิญนักสร้างเมือง ที่มีไอเดียทันสมัย ร่วมสัมนาครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอัจฉริยะ พลังงานสะอาด ที่เกิดขึ้นจริงได้โดยฝีมือของนักสร้างเมืองคนไทย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า ประเทศเราควรมี smart cities ห้ามพลาดงานนี้
ติดต่อ คุณเบญจศิ ทองทา สถาบันอาคารเขียวไทย
โทร 02-318-3358, 084-099-5199 โทรสาร 02-318-3357
อีเมล์ : smartcities.th@gmail.com
www.thailandsmartcities.com