วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

แนวคิดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เป้าหมายหลักคือความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในเมืองนั้น โดยการพัฒนาเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด สู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้น ได้แก่
1.การทำให้เกิดพื้นที่เมืองที่มีคุณภาพในการจัดวางระบบสาธารณูปโภคของเมือง มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายและการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งระบบทั่วไปและระบบที่ใช้ในการรองรับด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เสริมจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองและแนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ดีได้
2.เมืองมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสารสนเทศและการสื่อสาร กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้เมืองสามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมาได้โดยง่าย ทั้งนี้หมายรวมถึงทั้งเทคโนโลยีไร้สาย (wireless) และพร้อมสาย (cable) ที่ต้องมีการออกแบบและวางแผนอย่างเป็นระบบ
3.การพัฒนาฐานเศรษฐกิจและการลงทุนที่ควบคู่ไปกับกิจกรรมในเมือง เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
4.สร้างหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเมืองในอนาคต การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีความจำเป็นเพราะเมืองต้องพึ่งพาการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้กลไกการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพ โดยจะสามารถพัฒนาให้เกิดความสอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานของประชากรในแต่ละเมืองได้อย่างดี ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS CENTER)

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัจจุบันการใช้งานทางพิเศษมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์เราเพื่อการสัญจร เป็นเหตุให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้รับประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็คือศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ             (ITS CENTER) ที่มีการควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัย เป็นอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจและได้นำมาเสนอกันในครั้งนี้
โดยศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS CENTER) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจราจรบนทางพิเศษกับหน่วยงานภายนอก กทพ. ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากจากกล้อง CCTV จำนวน 251 กล้อง ที่ติดตั้งอยู่บนทางพิเศษฯ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อข้อมูลสภาพจราจรจากระบบอื่นๆ ของ กทพ. เพื่อนำเข้าข้อมูลมารายงานในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย อาทิ แผนผังรายการภาพรวมสภาพจราจรแบบเส้นสี Schematic Map และ Smart VMS โดยในการพัฒนาแผนดังกล่าวนั้นได้เป็นไปตามมาตรฐานของ Web Service ให้มีความปลอดภัยทางด้านสารสนเทศและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย
ประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านศูนย์กลางจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม และยังเกิดประโยชน์ทางด้านการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ป้ายอัจฉริยะบนถนนมิตรภาพ ตัวช่วยจัดระเบียบท้องถนน

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวบนถนนมิตรภาพมักเกิดปัญหาการจราจรติดขัด เพราะคนส่วนใหญ่กลับบ้านต่างจังหวัดและยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางพักผ่อนในภาคอีสานจำนวนมาก ทำให้ถนนมิตรภาพมีการสัญจรที่หนาแน่น นำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นประจำทุกปีจนชินตา และได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดถนนมิตรภาพก็ได้มีการจัดทำป้ายอัจฉริยะขึ้นโดยกรมทางหลวง เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดให้น้อยลง ช่วยให้ผู้ขับขี่มีวินัยมากขึ้น โดยป้ายอัจฉริยะดังกล่าวเป็นป้ายไฟ LED ปรากฎตัวเลขกำกับความเร็วสลับกับประเภทรถยนต์ที่เหมาะสมกับเลนนั้นๆ โดยรถยนต์ขนาดใหญ่จะถูกจัดให้วิ่งในเลนซ้าย และรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดทั่วไป จะถูกจัดให้วิ่งในเลนขวา พร้อมด้วยกล้อง CCTV และชุดไมโครเวฟเซ็นเซอร์ ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจจับความเร็วรถยนต์ หากรถยนต์คันไหนวิ่งมาด้วยความเร็วเกินกำหนดจะปรากฎขึ้นที่หน้าจอก่อนที่รถยนต์คันนั้นจะวิ่งผ่านไป เพื่อเป็นการป้องปรามและแจ้งเตือน นอกจากนี้ป้ายอัจฉริยะยังบอกเหตุที่เกิดขึ้นข้างหน้าให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ล่วงหน้าอีกด้วย  
ป้ายอัจฉริยะบน ถนนมิตรภาพ มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบบนท้องถนนให้ผู้ขับขี่มีวินัยมากขึ้น เพื่อช่วยลดการสะสมจำนวนรถยนต์บนการจราจร แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Smart City มีแนวทางรับมือกับปัญหาขยะล้นเมืองอย่างไร?



บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในการจัดการกับขยะแบบอัจฉริยะ เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่เมืองที่ยั่งยืน ซึ่งห่วงโซ่ของกระบวนการจัดการขยะแบ่งออกเป็นขั้นตอนสำคัญได้แก่ การรวบรวม, การขนส่ง, การแปรรูปขยะ และการรีไซเคิลหรือการนำไปกำจัด
  1. เทคโนโลยีการเก็บและขนขยะ (Waste Collection and Transport System)
ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีวิธีกำจัดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะเพื่อความสะดวกในการนำมารีไซเคิล หรือการลดใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น การรวบรวมขยะจากแหล่งชุมชนต่างๆ ภายในเมือง จึงเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการนำขยะไปกำจัด ทุกเมืองจึงมีรถบรรทุกขยะ แต่ถ้ามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ก็จะทำให้การรวบรวมขยะมีความสะดวกและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น
การจัดเก็บขยะด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์
ระบบการจัดเก็บขยะแบบอัจฉริยะสามารถทำได้ด้วยการติดเซ็นเซอร์ในฝาถัง สิ่งนี้จะทำให้รู้ถึงปริมาณขยะของแต่ละถัง เมื่อถึงปริมาณที่ต้องเก็บก็จะส่งสัญญาณไปบอกให้รถเข้ามารับผ่านเครือข่าย 3G กลับไปประมวลผลบน Cloud แบบ Real Time จากนั้นซอฟท์แวร์จะวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data  แถมยังบอกเส้นทางที่เลี่ยงการจราจรติดขัดเพื่อประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง นอกจากนี้เซ็นเซอร์ยังตรวจสอบประเภทของขยะได้อีกด้วย ในเบื้องต้นจะคัดแยกขยะในถังแต่ละประเภท แก้ว กระดาษ อินทรีย์วัตถุ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือสามารถแจ้งเตือนเมื่อพบเหตุการณ์ที่ผิดปกติเช่น อุณหภูมิที่สูง หรือมีการเคลื่อนไหวแปลกปลอม รวมไปถึงระบบเซ็นเซอร์สามารถคาดการณ์วันที่ขยะจะเต็มถังจากสถิติที่เก็บผ่านๆมา เมืองที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้แก่ ประเทศสเปน, ฟินแลนด์ เป็นต้น
การจัดการขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ
การรวบรวมขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ (Vacuum) เป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้รถขยะออกไปเก็บ แต่วิธีนี้ลงทุนสูง โดยการออกแบบวางโครงข่ายระบบท่อภายในเมืองจากชุมชนหรืออาคารต่างๆ ไปยังสถานีพักขยะ ต้องมีการติดตั้งที่ใส่ขยะ ใหม่ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นก็เดินท่อพลาสติกชนิด HDPE ที่มีความหนาและทนทานอยู่ใต้ดิน หลักการทำงานของระบบคือ ขยะที่นำมาทิ้งต้องบรรจุอยู่ในถุงหุ้มห่อให้มิดชิด เพื่อไม่ให้มีการฉีกขาดหรือมีเศษขยะตกค้างระหว่างขนส่ง เมื่อระบบเซนเซอร์ในที่ใส่ขยะตรวจจับพบว่ามีปริมาณขยะที่มากพอ จะส่งสัญญาณ 3G ไปยังระบบควบคุมที่สถานีพักขยะให้ทำการเปิดเครื่องดูดอากาศออกจากท่อ จึงทำให้ขยะจากที่ใส่ขยะถูกดูดตามมายังสถานีพักขยะก่อนที่จะถูกนำออกไปกำจัดต่อไป ซึ่งระยะทางของสถานีพักขยะไปถึงที่ใส่ขยะจะขึ้นอยู่กับขนาดของความแรงของเครื่องดูดอากาศเป็นหลัก
ปัจจุบันมีการวางระบบโครงข่ายขนส่งขยะตามท่อในหลายเมืองในยุโรป ในระดับเทศบาลหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น สวิสเซอร์แลนด์, ฟินแลนด์ เป็นต้น ที่สำคัญระบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในอาคารสูงๆ ทั่วโลก
  1. เทคโนโลยีการแปรรูปขยะ
การแปรรูปขยะจะต้องมีโรงงานแปรรูปขยะ ซึ่งควรมีคุณลักษณะดังนี้
  • ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่เกิดขยะ จะได้ไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่ง และไม่แพร่กระจายกลิ่นรวมถึงเชื้อโรค กรณีที่เกิดการรั่วไหลระหว่างขนส่ง
  • ต้องเป็นโรงงานแปรรูปขยะที่มีระบบการจัดการที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดภาวะใดๆ ไม่ปล่อยน้ำเสีย, กลิ่นเหม็น, ควันไฟ, เสียงดัง ที่เป็นการรบกวนผู้อื่น
  • ต้องสามารถคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ตามลักษณะการจัดการ ในกรณีที่ขยะไม่ได้คัดแยกมาจากแหล่งที่เกิด
  • ต้องมีระบบเครื่องจักรช่วยในการแปรรูปขยะทั้ง 4 กลุ่ม ให้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุดิบ เพื่อการผลิตหรือพลังงานทดแทนได้ เพื่อสร้างมูลค่าทดแทนค่าใช้จ่าย ดำเนินการและสร้างผลกำไรตอบแทนผู้ลงทุนได้
โรงจัดการแปรรูปขยะ (Material recovery facilities, MRF)
ระบบโรงจัดการแปรรูปขยะที่ดีและเหมาะสม จะต้องมีกำลังการผลิตที่สามารถรองรับปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่แต่ละวันโดยไม่สะสมข้ามวัน ดังนั้นจะต้องมีเครื่องจักรและระบบที่สามารถจัดการขยะได้อย่างต่อเนื่องวันเว้นวัน มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร เช่น มีการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของการใช้ซ้ำและการแปรรูป (Reuse & Recycle) รวมถึงการกำจัดที่ได้ผลพลอยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recovery) เช่น ปุ๋ยหมัก หรือ พลังงาน เป็นต้น
3. เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย
เทคโนโลยีที่ใช้สามารถแบ่งออกได้ 3 ระบบใหญ่ด้วยกัน คือ
  • ระบบทำปุ๋ย (Biological Conversion Technology)  เป็นการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยกระบวนการทางชีววิทยาของจุลินทรีย์ เป็นตัวการย่อยสลายให้แปรสภาพเป็นแร่ธาตุที่มีลักษณะเด่นและค่อนข้างคงรูป มีสีดำค่อนข้างแห้ง สามารถนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพของดิน
  • ระบบการเผาในเตาเผา ( Thermal Conversion Technology) เป็นการทำลายขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาทำลายในเตาเผาที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างอย่างถูกต้องและเหมาะสม แต่การเผามักก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซพิษ เป็นต้น ดังนั้นต้องมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ จึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมการเผาขยะ ทำให้เกิดระบบเตาเผาขึ้นหลายระบบด้วยกัน
  • การฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยโดยนำไปฝังกลบในพื้นที่ ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักวิชาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และที่สำคัญต้องได้รับการยินยอมจากประชาชน ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างต้องมีการวางมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปนเปื้อนของน้ำเสียจากกองขยะ จะส่งผลให้ดินเสื่อมคุณภาพและการป้องกันน้ำท่วมที่อาจส่งกลิ่นเหม็น จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขุดหลุมฝังกลบ
ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาที่ต้องเร่งมือแก้ไขเพราะขยะเกิดขึ้นทุกๆ วินาที เราต้องยอมรับว่าสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้คือ “การไม่สร้างขยะเพิ่ม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำกลับมาใช้ซ้ำ การแปรรูป หรือลดใช้ก็ตาม เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ถ้ายังไม่ร่วมมือกันหยุดสร้างขยะย่อมไม่เกิดประโยชน์ จริงๆ แล้วเมืองอัจฉริยะ ย่อมเกิดจากคนอัจฉริยะ ที่จะช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า สิ่งที่เราเริ่มต้นทำได้จากจุดเล็กๆ นั่นคือการปลูกฝัง “วินัย” ลดใช้พลังงาน ไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม เพียงเท่านี้เมืองของเราก็เข้าใกล้คำว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ แบบเต็มประสิทธิภาพแล้ว

Smart City กับประโยชน์ด้านผังเมือง

แนวคิด Smart City ที่มีส่วนในการพัฒนาเมือง ให้เป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ในด้านผังเมืองยังมีการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ สู่ประสิทธิภาพรอบด้าน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี
เมืองอัจฉริยะในด้านผังเมืองจะใช้ประโยชน์จากระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีอยู่ได้อย่างเพียงพอหรือมีประสิทธิภาพ เข้าถึงกลุ่มคนทุกชนชั้นและหลากหลายภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ปรับใช้เมืองให้มีประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่กิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
Smart City มีแนวคิดที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้านตามเป้าหมายสูงสุด คือพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ ลดปัญหาแออัดของชุมชนได้อย่างเหมาะสม

สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้? Smart city ใช้เทคโนโลยีรับมือกับปัญหาขยะ

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ปัญหาขยะเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อสังคมโดยรวม ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต หลายเมืองพบว่าขยะเป็นชนวนสำคัญ
ที่สร้างผลกระทบหลายอย่าง และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งแนวคิด Smart City ก็มีวิธีการจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดการแบบเดิมๆ
มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า จึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยกุญแจสำคัญของการจัดการก็คือใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาแบบบูรณาการ แทนการกำจัดแบบเดิม อย่างการนำรถบรรทุกวิ่งไปเก็บและนำมาฝังกลบ Smart City จะใช้วิธีที่ดีกว่านั้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น เช่น การจัดเก็บขยะด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์, การจัดการขยะด้วยระบบท่อสุญญากาศ เป็นต้น
Smart City คือกุญแจสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาขยะโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

Smart City กับหลักการสำคัญสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

แนวคิดเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City คือทิศทางในการพัฒนาเมือง ให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งก็ได้กำหนดหลักการสำคัญเอาไว้ 4 ข้อ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ว่าการจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีการใช้ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ถนน อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่เมืองอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายและการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในเมืองนั้นให้เข้มแข็ง
2) มีความยืดหยุ่นสูง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเมืองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3) เทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล เปิดกว้างและสามารถเข้าถึงแก่ผู้ใช้ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ทั้งยังสามารถแก้ไขให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันได้ด้วย
4) เป็นเมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ปลอดภัย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ บ่มเพาะนักธุรกิจ นักพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
หากเมืองใดมีครบทั้ง 4 ข้อนี้ ก็เท่ากับว่ามีคุณสมบัติตรงกับหลักการสำคัญซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สู่การพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ ดีขึ้น

รู้จักกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4 ระดับ

เมืองนิเวศหรือ Eco Town แนวคิดการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ลงตัวไม่รบกวนซึ่งกันและกัน สู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุมชนแล้ว ยังถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม จำแนกตามพื้นที่ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ
1. ระดับปัจเจกบุคคล (Eco Factory หรือ Factory Level) การนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับตนเองในการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. ระดับกลุ่มอุตสาหกรรม/นิคมอุตสาหกรรม (Eco Industrial Group หรือ Eco Industrial Level) พื้นที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาอาศัยระหว่างโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อม
3. ระดับเมือง (Eco Town Level) การพึ่งพาอาศัยระหว่างอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในชุมชน
4. ระดับเมืองใหญ่หรือนคร (Eco City) เมืองที่เกิดจากการพัฒนาของทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การใช้บริการที่เกี่ยวข้องที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันและเกื้อหนุนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่จำแนกได้ หากสังเกตรายละเอียดที่สำคัญๆ จะพบว่าแต่ละระดับจะเน้นการใช้พื้นที่และทรัพยากรให้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยจะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม หรือลดปัญหาในระยะยาว