เมืองอัจฉริยะ (Smart City) บริหารด้วยไอทีจากไอเดีย

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
Smart city เป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลและโทรคมนาคมใช้ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลที่ได้รับ
            คำจำกัดความของ Smart City ถูกใช้อย่างหลากหลายทั่วโลก มักจะให้ความหมายที่หลากหลายสอดคล้องกัน สรุปได้ว่า รูปแบบเมืองอัจฉริยะจึงควร”เป็นเมืองที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตในเมืองๆ นั้นดีขึ้น ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลงอย่างยั่งยืน” ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ
  • Efficient การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพที่มากที่สุด
  • Sustainable มีความยั่งยืน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุน
  • Liveable คุณภาพชีวิตของคนอยู่อาศัยต้องดี
ในเมืองใหญ่ๆ ล้วนต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนเราจะเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทีทำงานโดยใช้ทางด่วนหรือทางหลวง เราก็สามารถตรวจสอบสภาพจราจรบนเส้นทางเรียลไทม์ (Real Time) เราสามารถทราบระยะเวลาการเดินทาง (Travel Time) บนเส้นทางได้ การแจ้งเตือนอุบัติเหตุ (Incident Detection) โดยเข้าไปเปิดที่เว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นสำหรับรายงานสภาพจราจร

จังหวัดที่จะยกระดับให้เป็นเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
เมืองหรือจังหวัดที่จะนำร่องนโยบาย “สมาร์ทไทยแลนด์” จะต้องมีความพร้อมหลายๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากรัฐบาล การเมืองท้องถิ่น และความร่วมมือระหว่างเอกชนกับประชาชน ได้แก่
          นครนายก จังหวัดนำร่องสมาร์ทซิตี้
นครนายกเป็นจังหวัดแรกที่เข้าร่วมโครงการวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างหลายมิติ สาเหตุที่เลือก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เป็นจังหวัดไม่ใหญ่เกินไป มีเพียง 4 อำเภอ แต่มีภูมิประเทศที่แตกต่างกันชัดเจน ทั้งภูเขา แม่น้ำ และมีความพร้อมด้านไอทีในระดับที่ดีอยู่แล้ว
          ภูเก็ต ไอทีซิตี้ จุดเริ่มต้นของสมาร์ทซิตี้
สำหรับภูเก็ตรัฐบาลเคยวางแผนให้เป็นเมืองไอทีซิตี้ (สมัย 2549  ยังไม่นิยมใช้คำว่าสมาร์ทซิตี้) เนื่องจากที่นี่เหมาะที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนด้านไอทีด้วย จึงเหมาะที่จะเป็นที่ทำงานและพักผ่อนไปในตัว
          เชียงใหม่ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ กับนิยามใหม่ “ไมล์ซิตี้” มีดีที่แตกต่าง
นอกเหนือจากจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ภาครัฐและเอกชนได้มีการวางแผนในจังหวัดอื่นๆ แต่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นแตกต่างกันออกไป เช่น พัฒนาเพื่อการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ด้านการประหยัดพลังงาน หรือ ด้านความมั่นคง เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้ Smart City บริหารงานในระบบต่างๆ ได้แก่
บริหารด้านระบบขนส่งและจราจร
การเดินทางกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน และปัญหาจราจรในประเทศไทยก็ยังคงเป็นเรื่องหนักใจที่หลายๆ ส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหา ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” หรือ “Intelligent Transportation System (ITS) “ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้แก้ปัญหาจราจร ระบบนี้ได้รับการพิสูจน์จากหลายประเทศว่าสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ดีในระดับหนึ่ง และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก การนำมาประยุกต์ใช้ที่เราไม่เคยสังเกตในชีวิตประจำวันเช่น  ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลสภาพจราจรผ่านเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น, ระบบCCTVในการตรวจสอบสภาพจราจร, ระบบฉุกเฉิน, ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ, ระบบแผงกั้นไฟสัญญาณเตือนอัตโนมัติ, ระบบไฟฟ้าสว่างภายในทางลอด, โครงการที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ,  ระบบประตูสาชานชาลาอัตโนมัติ และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า
ชุมชนเมืองเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประชากร เมื่อกระจุกตัวมากขึ้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็มากตามไปด้วย จึงมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าขั้นวิกฤติ มีการคิดค้นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกขึ้นมา นำมาโยงกับเทคโนโลยีปัจจุบันเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สิ่งที่เราเห็นใกล้ๆ ตัว เป็นแนวคิดหลักของระบบพลังงานไฟฟ้าเรียกว่า Smart Grid ได้แก่ แอพลิเคชั่นให้ความรู้ข่าวสาร, รถพลังงานไฟฟ้า, มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นดินและหลังคาบ้าน, การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการขยะ
มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงทศวรรษหน้า ฉะนั้นจึงได้มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วย หลักๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการรวมและขนส่งขยะ, เทคโนโลยีแปรรูปขยะ, เทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอย  ซึ่งจะทำให้การจัดการกับขยะได้สะดวกและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น  เช่นเราสามารถติดเซนเซอร์ไว้ด้านในฝาถังที่ลับตาคน เพื่อให้รู้ปริมาณขยะและประเภทได้แม่นยำ แถมยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมได้อีกด้วย ถ้าพบสิ่งที่มีอุณหภูมิสูง จะประมวลผลส่งผ่านเครือข่าย 3G  กลับไปบน Cloud แบบ Real time

ระบบบริหารการให้บริการของหน่วยงานราชการ
Smart Government ถือเป็นแนวคิดในการพัฒนาการบริหารงานภาครัฐจากเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาฐานข้อมูลของหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงพื้นฐาน ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการประชาชนโดยการใช้งานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Government ระบบนี้ทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ เกิดทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลได้รวดเร็ว โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินที่ประชนชนมีต่อภาครัฐ
นอกจากนี้ยังมีการนำไปบริหารงานด้านอื่นๆ เช่น ควบคุมความปลอดภัย และระบบตรวจสอบสถานะการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเมือง อีกด้วย
นอกจากการบริหารในประเทศแล้ว ในระดับมหภาคคงจะเกิดกระแสการลงทุนในระดับเมืองของภาคธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อสารโทรคมนาคมเพื่อสร้างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับเมือง รวมทั้งรองรับการขยายตัวของ IOT ที่จะเข้าไปถึงประชาชนในระดับชุมชน ภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์องค์กร จากเมื่อก่อนเป็นผู้ผลิตและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ mass market มาเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ
การปรับเปลี่ยน Position เช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ระหว่างเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สำหรับการให้บริการแบบ Smart City หรือ IOT สำหรับภาครัฐเองก็ได้มีการผลักดันประเทศไทยให้เกิดกระแส Start up City หรือ Thailand 4.0 แต่สุดท้ายประชาชนก็คงต้องมีการปรับตัวและประเมินประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยี เพื่อให้ตัวเองกลายเป็น Smart User เช่นกัน
อ้างอิง: หนังสือ Smart City มิติใหม่ของการจัดการท้องถิ่นยุคไอที