เมืองอัจฉริยะ ความฝันของคนไทยที่ไม่ไกลเกินจริง

ที่ผ่านมาท่ามกลางปัญหาของเมืองปัจจุบันทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ความแออัดและอื่นๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2030 ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่า 8,500 ล้านคน โดยกว่า 60% เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” ได้รับการจับตามองอย่างมาก เพื่อการพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นเมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
ในส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ร่วมกับสถาบันอาคารเขียวไทย ริเริ่ม โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นสู่การพัฒนาเมืองของชุมชนให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นจริงในประเทศไทย โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น  Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหลังจากโครงการนี้ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาทางโครงการได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และองค์กรเอกชนจากทั่วประเทศ ร่วมส่งโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 36 โครงการ แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวต่อการเป็นเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยเช่นกัน
โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 มาร่วมเป็นกำลังใจให้กับทั้ง 36 โครงการ เพื่อลุ้นเป็นสุดยอดโครงการสร้างสรรค์เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน (Smart Cities – Clean Energy) โดยเมืองที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 1 จะต้องจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  (Smart City Development Master Plan) ซึ่งจะมีรายละเอียดเบื้องต้นที่ครอบคลุมผังการใช้พื้นที่ แผนผังโครงการ การจัดวางอาคาร และแผนผังระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมไปอีกขั้น นอกเหนือจากข้อเสนอแนวคิดที่มีความน่าสนใจ
งานประกาศผลการคัดเลือกขั้นตอนที่ 1 โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) จะมีขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ในเวลา 13.00 น.เป็นต้นไป สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันอาคารเขียวไทย  www.tgbi.or.th และ www.thailandsmartcities.com

ประโยชน์สารพัดของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นแผนพัฒนาที่ได้ประโยชน์หลายด้าน สู่การดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพของผู้อยู่อาศัยในเมือง โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่
1.ประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ
ผลต่อเนื่องจากการประหยัดพลังงาน ที่สามารถลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งโดยมากใช้การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ช่วยดึงดูดธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามารวมตัวอยู่ในพื้นที่เนื่องจากความได้เปรียบในการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ
2.ประโยชน์ต่อด้านสังคมและวัฒนธรรม
การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นองค์ประกอบในเมืองอัจฉริยะสามารถพัฒนาต่อยอดในการที่จะช่วยยกระดับการศึกษา และการเผยแพร่ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น และการให้บริการด้านสาธารณสุข ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถช่วยในเรื่องของการบริการสาธารณสุขได้ ส่วนการรักษาความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถประยุกต์ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัยได้
3.ประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อม
จากเป้าหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการปล่อย CO2 การควบคุมการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพหรือการจัดเก็บและกำจัดขยะที่เหมาะสม รวมถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสีย และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุด

รู้จักกับรูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปัจจุบัน

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน แตกต่างกันออกไปด้วยวัตถุประสงค์และการดำเนินการ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบมีจุดประสงค์ร่วมกันคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ลงตัว ได้แก่ การพัฒนาเมืองใหม่, การพัฒนาฟื้นฟูเมือง และการพัฒนาระบบบริการจัดการเมือง
1.การพัฒนาเมืองใหม่
การพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Developemt) คือ การพัฒนาก่อสร้างพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ทั้งหมดในเขตพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่ธรรมชาติ (Green Field) เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สาธารณูปการ ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน ย่านพาณิชยกรรม และพื้นที่พักผ่อน
2.การพัฒนาฟื้นฟูเมือง
การพัฒนาฟื้นฟูเมือง (Urban Redevelopment) คือ การพัฒนา ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีอยู่เดิม แต่ชำรุดทรุดโทรมหรือมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเมืองและประเทศในอนาคต การพัฒนารูปแบบนี้มีทั้งการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นในและพื้นที่ชานเมืองที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ การพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานในพื้นที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชยกรรม การพัฒนาระบบผลิตและส่งจ่ายพลังงานหมุนเวียน และการติดตั้งระบบการควบคุมการให้บริการสาธารณูปโภค
3.การพัฒนาระบบบริการจัดการเมือง
การพัฒนาระบบบริหารจัดการเมือง (Development of Urban Management System) เป็นการพัฒนาเมืองที่ไม่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงกายภาพที่ทำให้รูปลักษณ์ของเมืองเปลี่ยนแปลง แต่เน้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการควบคุมการให้บริการสาธารณูปโภค สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

ตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะด้วยแอปพลิเคชั่นการจราจร

บทความโดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
จะดีแค่ไหนถ้าหากผู้ใช้ทางสามารถตรวจเช็คสภาพการจราจรได้ล่วงหน้า ก่อนออกเดินทางจริงบนท้องถนน เพื่อการเลือกใช้ทางได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดหรืออุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้เส้นทาง
แอปพลิเคชั่น Motorway Traffic App รองรับการตรวจเช็คสภาพการจราจรล่วงหน้าก่อนเดินทาง มีหลักกการทำงานร่วมกันระหว่างแอปพลิเคชั่นกับกล้อง CCTV เพื่อรายงานสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยจะแสดงผลเป็นเส้นสีบนแอปพลิเคชั่น ได้แก่ เขียว เหลือง และแดง สีเขียวคือสภาพถนนคล่องตัว สีเหลืองสภาพการจราจรแออัดเล็กน้อย และสีแดงการจราจรติดขัด เมื่อผู้ใช้ทางตรวจเช็คก่อนออกเดินทางจะสามารถเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสมได้ดีขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้แอปพลิเคชั่น Motorway Traffic App ยังมีฟีเจอร์เปิดรับแจ้งอุบัติเหตุและขอความช่วยเหลือผ่านแอปฯ ได้ด้วย เพียงแค่ผู้ใช้เส้นทางพบเห็นอุบัติเหตุบนเส้นทางแล้วแจ้งผ่านแอปฯ ข้อมูลจะไปปรากฎที่ศูนย์ควบคุมในเวลาอันรวดเร็ว และถ้าหากผู้ใช้เส้นทางต้องการความช่วยเหลือ เช่น เกิดเหตุยางแตก ก็สามารถแจ้งไปยังศูนย์ได้โดยการระบุตำแหน่งพร้อมข้อมูลรายละเอียด ทางศูนย์จะทำการตรวจสอบกับกล้องวงจรประกับกับข้อมูลที่ได้รับ หากพบว่าเกิดเหตุจริงจะทำการส่งหน่วยกู้ภัยไปช่วยเหลือ
ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์น่าสนใจสำหรับ Motorway Traffic App ก็คือการสร้างห้องในกรณีเดินทางร่วมกันหลายคัน แล้วเชิญให้เข้ามาอยู่ห้องเดียวกัน จากนั้นก็จะสามารถติดตามตำแหน่งของรถยนต์แต่ละคันได้ ภายในห้องนั้นจะแสดงตำแหน่งรถยนต์ทุกคันที่เข้าร่วมในห้องนั้น
มาต่อกันที่ App Exact ITS อีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นทำงานคล้ายๆกัน ซึ่งทางศูนย์ได้พัฒนาให้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครอบคลุมการจราจรบนทางด่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แสดงผลเป็นเส้นสีเขียว เหลือง แดง เหมือนกับ Motorway Traffic App การรายงานผลและการทำงานคล้ายๆกัน มีระบบแจ้งเตือนอุบัติเหตุเหมือนกัน แต่ไม่มีระบบขอความช่วยเหลือเหมือนกับแอปพลิเคชั่นข้างต้น