แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำหรับโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ


แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

สำหรับโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy)

ข้อมูลทั่วไปของเมือง

ชื่อเมือง             เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ
พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 1,800,000 ตารางเมตร

ลักษณะ/จุดเด่น ของเมือง
โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน ถือเป็นการพัฒนาพื้นที่ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ติดกับพื้นที่สถาบันการศึกษา ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 291 ไร่ จากที่ดินทั้งหมด 1,153 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของโลก ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองหลวงของประเทศ
การที่โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน จะกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างของ “เมืองอัจฉริยะ” ในบริบทของพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองหลวง นอกจากจะส่งผลทางด้านบวกกับคนเป็นจำนวนมากในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูง ทั้งในทุกมิติอัจฉริยะของการจัดการพลังงาน การสัญจร ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการเมือง และการสร้างนวัตกรรมเมืองแล้ว ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2560 พื้นที่ ”เมืองจุฬาอัจฉริยะ” นี้ ยังจะมีบทบาทในการชี้นา และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนในสังคม โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ที่เน้นกำไรจากการสร้างนวัตกรรมทางสังคม มากกว่าการสร้างรายได้ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว สมกับบทบาทในฐานะ “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องสืบสานบทบาทของการเป็น “เสาหลัก” ของแผ่นดิน และสามารถเป็นจุดอ้างอิง และชี้ทิศทางสำหรับการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
ที่สำคัญ การเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองเพียงแห่งเดียว ที่มีนโยบายการพัฒนาและการบริหารจัดการควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้พลวัตของการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ สู่การสร้างนวัตกรรมทางสังคมผ่านการพัฒนาพื้นที่ สามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคง แน่นอน และเป็นรูปธรรม หากวัตถุประสงค์ที่สำคัญและยั่งยืนที่สุดในการสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่นอกเหนือไปจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใดๆ คือ ความสามารถในการพัฒนาสังคมอัจฉริยะ ที่ประกอบไปด้วย “คน” ที่มีจิตสานึกอย่างอัจฉริยะ พื้นที่เมืองจุฬาอัจฉริยะนี้ จะช่วยยกระดับการเรียนการสอน สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา พฤติกรรมของนิสิตและบุคลากรอย่างเต็มศักยภาพ สามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสู่สังคมภายนอกอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม อาทิ นวัตกรรม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการแพทย์ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้มาต่อยอดในเชิงธุรกิจ ผ่านการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่ตั้งอยู่เคียงคู่กับพื้นที่การศึกษาเพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ที่มีศักยภาพรองรับความเปลี่ยนแปลงจากพลวัตของสิ่งแวดล้อมโลก และพลวัตของคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยที่หล่อเลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ตลอดไป