แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำหรับโครงการ มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด


แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สำหรับโครงการ มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy)
ข้อมูลทั่วไปของเมือง
ชื่อเมือง มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด
พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 825,686 ตารางเมตร
จำนวนประชากรเทียบเท่า 896,979 คน
ลักษณะ/จุดเด่น ของเมือง
เมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมสูง มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียวมากเกินกว่ามาตรฐานกำหนด รวมถึงมีพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมมากมาย เมืองมีวัตถุประสงค์หลักในการลดผลกระทบและลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมต่อเมืองข้างเคียง รวมถึงมุ่งเน้นการเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะพลังงานสะอาดให้กับเมืองข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคทางเหนือ
นอกจากนั้นเมืองยังมีนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงานสีเขียวหลายโครงการ ทั้งที่ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิเช่น โครงการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และชีวมวล โครงการลดการใช้รถส่วนตัวในเมือง โครงการขยะเป็นศูนย์ และโครงการรถสาธารณะพลังงานจากขยะ รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการจัดตั้งอีกมากมาย ได้แก่ โครงการเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Absolute SMART Control) ที่เน้นการวางระบบเครือข่ายการควบคุม ตรวจสอบ และตรวจวัดระบบของเมืองครบวงจร ทั้งระบบเกี่ยวกับพลังงาน ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบการสัญจร และระบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชากร เป็นต้น โครงการเพิ่มเครือข่ายการสัญจรสาธารณะ โครงการธุรกิจอัจฉริยะ โครงการปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารเขียว (TREEs) และจัดทำแผนการก่อสร้างอาคารใหม่ให้เป็นอาคารเขียวระดับยอดเยี่ยม (TREEs-Platinum) เป็นต้น
ทั้งนี้เมืองมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของโครงการในภาพรวมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ภาพรวมประโยชน์ทางพลังงาน ภาพรวมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และภาพรวมผลประโยชน์ต่อชุมชน โดยที่เมืองสามารถสร้างผลประโยชน์ทางพลังงานสุทธิได้จากการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และชีวมวลได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานของเมือง พลังงานสะอาดเหล่านี้นอกจากจะนำมาหักลบกับการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าในหมู่บ้านและชุมชนแล้ว เมื่อเหลือใช้ยังสามารถแบ่งปันไปยังหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมเมืองมีเป้าหมายลดผลกระทบในแง่การลดการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอน (Carbon reduction) ใน 20 ปี ได้ถึง 32,370.68 tCO2/y คิดเป็นร้อยละ 55.2 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปัจจุบัน (ปี 2559) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นปอดให้กับเมืองและชุมชนรอบข้างได้จากการมีปริมาณพื้นที่สีเขียวร้อยละ 40 นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นเป็นต้นแบบการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมครบวงจรให้กับเมืองข้างเคียงได้พัฒนาสู่สังคมสีเขียวแบบอัจฉริยะ
ผลประโยชน์ต่อชุมชน เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนทั้งในเมืองจำนวน 14 หมู่บ้าน และ 6 ชุมชนข้างเคียงจะสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวในเมือง มีความสะดวกสบายในการสัญจรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีโอกาสนำระบบการบริหารจัดการในเมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปเป็นต้นแบบในการปรับใช้กับชุมชนได้อีกด้วย
ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ ต่อเมืองรอบข้างประกอบด้วยการลดต้นทุนในการใช้พลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าของเมืองโดยรวมซึ่งทำให้มีปริมาณของไฟฟ้า (electricity supply) เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนเมืองอัจฉริยะยังจะเป็นการสร้างนวัตกรรมและสามารถส่งต่อองค์ความรู้สู่ภาคธุรกิจ (Knowledge transfer) โดยรอบได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มการลงทุนและสร้างรายได้ในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) ของเมืองโดยรอบ