แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำหรับโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง

แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสำหรับโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมืองโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy)

ข้อมูลทั่วไปของเมือง

ชื่อเมือง ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง
พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 803,207  ตารางเมตร
จำนวนประชากรเทียบเท่า 155,909 คน

ลักษณะ/จุดเด่น ของเมืองที่
นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 - 2509) จังหวัดขอนแก่นถูกกำหนดให้เป็นเมืองสำคัญและเป็นเมืองศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการวางรากฐานการพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการพัฒนาองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับบทบาทการเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ (Regional Center) ส่งผลให้ในปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้านของภูมิภาค ทั้งในด้าน การศึกษา การค้าและบริการ การเงิน การแพทย์อุตสาหกรรม คมนาคมและโลจิสติกส์ ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาปริมาณขยะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จังหวัดขอนแก่นจึงได้มีการกำหนดกรอบทิศทาง การพัฒนาให้มีความชัดเจนและรัดกุมเพื่อให้สามารถนำศักยภาพภายที่มีใช้พัฒนาเมืองทั้งในเชิงรุกและเชิงรับได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดเป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงต่อประชาชนและก้าวสู่ความเป็นมหานครแห่งอาเซียน
นอกจากนั้นแล้ว เมืองขอนแก่นยังมีศักยภาพด้านการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจ (EWEC) กลุ่มประเทศเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor หรือ EWEC) เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง 5 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจุดผ่านที่สำคัญของโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงนานาประเทศดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทย อำนวยความสะดวกด้านการค้าข้ามพรมแดน และขยายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านและติดต่อกับชาติอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ ปัจจุบันนี้เมืองขอนแก่นได้กำหนดให้เป็น MICE CITY (MICE ย่อมาจากแนวคิดด้าน Meeting, Incentive, Conventions, and Exhibition) กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชาวเมืองขอนแก่นเพิ่มมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้พื้นที่เมืองขอนแก่นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาจราจร ปัญหาการจัดการขยะ การลดลงของพื้นที่สีเขียว เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดภาระหน้าที่ และบทบาทของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนซึ่งถือเป็นการบริหารกิจการบริการสาธารณะพื้นฐาน จากการที่เมืองขอนแก่นเป็นเมืองที่มีหลากหลายบทบาท เมืองมีการขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว
เมื่อผนวกเข้ากับวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครขอนแก่นทำให้มีความจำเป็นต้องมีการบริหารเชิงพื้นที่ และการบริหารจัดการในรูปแบบของความเป็นเมืองสร้างสรรค์(Smart City) ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นมีองค์ประกอบแห่งความสำเร็จหลายประการที่สามารถนำรูปแบบการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์มานำร่องปรับใช้กับเมืองได้ โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนหรือกับองค์กรเอกชน ได้แก่ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมดกว่า 20 บริษัท รวมตัวเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตนเองในเชิงออกแบบและพัฒนาเมือง อย่างถูกหลักวิชาการ เพื่อรองรับบทบาทของเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ในการพัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุขได้นั้นทางเทศบาลนครขอนแก่น กับ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จึงเกิดเป็นแนวคิดพัฒนาแบบโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง Mobility Drives City เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา TOD และ การฟื้นฟูย่านใจกลางเมืองปัจจุบันCBD สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นของเมืองขอนแก่น จึงเป็นเหตุผลและความสำคัญของการศึกษาโครงการ “โครงการขอนแก่น Smart City(ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน"