โครงการธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ


แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

สำหรับโครงการธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy)

ข้อมูลทั่วไปของเมือง

ชื่อเมือง             ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลับอัจฉริยะ

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 2,589,814  ตารางเมตร

จำนวนประชากรเทียบเท่า 33,060 คน


ลักษณะ/จุดเด่น ของเมือง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา พื้นที่โครงการ 1,757 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นจะผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และมีคุณธรรม เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม พื้นที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาคมธรรมศาสตร์ นักศึกษาคณาจารย์ ในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบัน สร้างพื้นที่การวิจัยแบบบูรณาการ มีศูนย์วิจัยที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและนำเสนอแนวทางพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่พร้อมในการรองรับวิถีชีวิต พร้อมทั้งมีพื้นที่ทำกิจกรรมนันทนาการ กีฬา ศิลปวัฒนธรรม ในสภาพแวดล้อมที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ร่มรื่นน่าอยู่ ประชาคมอยู่อาศัยในสังคมธรรมศาสตร์อย่างมีความสุข และพร้อมแบ่งปันวิถีชีวิตดีๆ ให้กับชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวม ผ่านกิจกรรมและกระบวนการการมีส่วนร่วมตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดทำการปรับปรุงผังแม่บท ศูนย์รังสิตระยะยาว พ.ศ.2577 (ธรรมศาสตร์ 100 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเชิงกายภาพด้านการขาดศูนย์กลางชุมชน และความไม่ชัดเจนของการสื่ออัตลักษณ์ธรรมศาสตร์ พร้อมกับเตรียมปรับระบบพื้นที่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันและแผนการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านการเชื่อมต่อพื้นที่มหาวิทยาลัยเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยการจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้บริหารและประชาคมธรรมศาสตร์เพื่อทบทวนนโยบายและวางเป้าหมายธรรมศาสตร์ 100 ปี ร่วมกันกำหนดแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาและจัดทำผังแม่บท ก่อให้เกิดทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีแผนรองรับการพัฒนาด้วยหลักการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามแนวคิด “เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวยั่งยืน”(Sustainable Campus Town)

แนวคิดของโครงการ (Concept)

เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์และบทบาทที่ชัดเจนของศูนย์รังสิต ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ธรรมศาสตร์ 100 ปี ผู้บริหารและประชาคมธรรมศาสตร์จึงมีแนวคิดในการสร้างศูนย์รังสิตให้เป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อรับใช้ประชาชน และผู้อยู่มีความสุข” โดยมี 5 แนวทางหลักในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่การเป็น

- ศูนย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน (Center for the People)

- ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Community)

- เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน (Sustainable Campus Town)

- มหาวิทยาลัยแห่งความสุข (Joyful Campus)

- ศูนย์กลางบ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Campus)

การปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 มุ่งเน้นไปที่การปรับโครงหลักของผังให้เหมาะสม ได้แก่ การแบ่งส่วนพื้นที่ การสัญจร พื้นที่เปิดโล่งสีเขียว แกนเอกลักษณ์ จุดรวมกิจกรรม และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อสร้างความเป็น "เมืองธรรมศาสตร์" ที่เชื่อมโยงกันด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย และสวนธรรมศาสตร์สาธารณะ

1. ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย จึงส่งเสริมการใช้งานและปรับลักษณะทางกายภาพของการเป็น “ศูนย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน” ในบริเวณ “ด้านหน้า”ทุกๆด้านของมหาวิทยาลัย โดยให้มีลักษณะ

เปิดรับต่อชุมชนภายนอกและมีการใช้งานที่เอื้อต่อการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ ได้แก่ บริเวณทิศตะวันออก (ถนนพหลโยธิน) ให้เป็นพื้นที่การบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพและรักษาพยาบาล บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และส่งเสริมความรู้ด้านธุรกิจ บริเวณทิศตะวันตก (สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง) ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต และบริเวณทิศใต้ (ถนนเชียงราก) ให้เป็นพื้นที่บริการด้านนันทนาการ กีฬาและวัฒนธรรม

2. ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ส่วนการศึกษาและส่วนพักอาศัย ซี่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางมหาวิทยาลัยและเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันการศึกษาและ การปรับพื้นที่คำนึงถึงการใช้งานที่ครบถ้วน สะดวกสบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสะดวกในการเดินเท้า การใช้จักรยานและระบบขนส่งมวลชน สร้างความใกล้ชิดของกลุ่มคณะต่างๆ เพื่อให้เกิด“ศูนย์รวม” ที่ชัดเจนทั้งด้านกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต รวมทั้งส่งเสริมการใช้ถนนตลาดวิชาและถนนยูงทองเพื่อสร้างการเชื่อมโยงทางกายภาพกับสถาบันเพื่อนบ้าน ได้แก่ สวทช. และ A.I.T. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิด “ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย” อย่างแท้จริง

3. สวนธรรมศาสตร์สาธารณะ องค์ประกอบหลักทั้ง 2 ส่วน ทั้งด้านการบริการประชาชนและด้านการศึกษา จะเชื่อมโยงเข้าหากันด้วย “สวนธรรมศาสตร์สาธารณะ” ได้แก่ พื้นที่ส่วนนันทนาการ กีฬาและวัฒนธรรม และพื้นที่ส่วนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ โดยยึดแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในศูนย์รังสิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านกิจกรรมพักผ่อนนันทนาการ พบปะสังสรรค์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการใช้งานด้านสาธารณูปโภค โดยการสร้างให้เกิด โครงข่ายสีเขียว (Green Network) ที่เชื่อมโยงคนทุกกลุ่มและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

โครงการตามผังแม่บทนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ด้านกายภาพ: เกิดการแก้ปัญหาและนำไปสู่การพัฒนาที่สื่อเอกลักษณ์ เป็นที่รับรู้ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากประชาคมมหาวิทยาลัย

2. ด้านการบริหารจัดการ: เกิดการวางแผน ทบทวนระบบบริหารจัดการด้านระบบกายภาพในมหาวิทยาลัย โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์: เกิดความร่วมมือและประสานงานในทุกระดับและขั้นตอน ของการจัดทำแผนพัฒนากายภาพเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า