แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำหรับโครงการนิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สำหรับโครงการนิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy)

ข้อมูลทั่วไปของเมือง
ข้อมูลทั่วไปของเมืองที่เข้าร่วมการประกวด
ชื่อเมือง นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 180,736 ตารางเมตร
จำนวนประชากรเทียบเท่า 4,040 คน

 ลักษณะ/จุดเด่น ของเมือง
การพัฒนา NIDA Smart Compact City (NIDA 2SC) มีเป้าหมายสูงสุด 5 ด้าน ได้แก่ คุณภาพชีวิตที่
ดี (Quality of Life) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมีแผนการดำเนินการในมิติต่างๆ ของเมืองอัจฉริยะดังต่อไปนี้
1.         พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อลดความต้องการพลังงานและการใช้พลังงานสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
2.         การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งภายในและเชื่อมโยงกับภายนอกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3.         ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) เป็นการพัฒนาสังคมในอนาคตที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
4.         สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
5.         เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นการพัฒนาแบบจำลองทางธุรกิจเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
6.         อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เป็นการปรับปรุงอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียวของ TREES ในระดับ Platinum และการปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารที่มีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building)
7.         การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
8.         นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation) เป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งการพัฒนาย่านนวัตกรรมและวัฒนธรรมบางกะปิ (Bangkapi Innovation and Cultural District)
การดำเนินการพัฒนาโครงการ NIDA Smart Compact City (NIDA 2SC) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดกะทัดรัด มีพื้นฐานวิชาการที่เข้มแข็งและมีความพร้อมในทุกด้านทั้งบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันแล้ว ยังเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ทุกระดับของประเทศไทยในปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อันมีส่วนสำคัญในการทำให้ประชากรไทยในอนาคตมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศ สามารถปรับตัวรองรับบริบทการพัฒนาในอนาคต มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นรากฐานที่มั่นคงของชุมชนและสังคมไทยต่อไป