แนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ หรือ เมืองคาร์บอนต่ำ


แนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ หรือ เมืองคาร์บอนต่ำ
การพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ หรือ เมืองคาร์บอนต่ำ จะให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเดินทาง ระยะทางที่เหมาะสมในการเดินทาง ชนิดของยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง และระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่ง การพัฒนาจะมุ่งเน้นให้เกิดการใช้งานยานพาหนะให้น้อยที่สุด และใช้ชนิดของยานพาหนะที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในระบบคมนาคมและขนส่งนั้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการคมนาคมขนส่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์ของรถประเภทต่างๆ โดยปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากรถยนต์นั้นจะสามารถวัดได้จาก 3 องค์ประกอบด้วยกันคือ ปริมาณของการจราจร ระยะทางที่ใช้ในการเดินทาง และความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ ซึ่งมาตรการที่จะทำให้มีการคมนาคมแบบคาร์บอนต่ำนั้น จะต้องเป็นมาตรการสามารถที่ปรับปรุง 3 องค์ประกอบที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ดังนี้
1. การลดปริมาณของการจราจร โดยการส่งเสริมการเดินหรือการใช้จักรยานรวมถึงการใช้ระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การเดินทางโดยรถไฟ จะมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรน้อยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
2. การลดระยะทางที่ใช้ในการเดินทาง ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้มีการกระจายความเจริญออกไปสู่บริเวณรอบๆ ของศูนย์กลางของเมืองใหญ่หรือเมืองที่เจริญแล้ว ทำให้เกิดศูนย์รวมการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน (Compact mixed use nodes) กระจายอยู่นอกเมืองใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางติดต่อที่สั้นลง
3. การลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์เมื่อเทียบกับระยะของการเดินทาง ทำได้โดยการปรับปรุงสภาพของถนนให้ดีขึ้นเพื่อช่วยให้ระยะเวลาในการเดินทางสั้นลง นำระบบบริหารจัดการจราจรที่เหมาะสมมาใช้ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพการที่สูงขึ้น (fuel efficient vehicles) เป็นต้น
มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ในส่วนของภาคคมนาคมขนส่งจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องมีการดำเนินการในทุกด้านพร้อมกัน วิธีการที่สำคัญที่สุดคือการผสมผสานระหว่างการส่งเสริมให้ใช้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้นและการนำเอาระบบบริหารจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพมาใช้อย่างลงตัว นอกจากนั้น การพิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานที่ ตำแหน่ง ขนาดและลักษณะของสถานีเชื่อมต่อในระบบขนส่งมวลชนให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นเดียวกัน
บทสรุป
เมืองอัจฉริยะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองและการวางผังเมืองที่ถูกต้อง สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดและเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสวัสดิภาพที่ดี ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ ได้ที่โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) www.thailandsmartcities.com
ดำเนินโครงการโดย สถาบันอาคารเขียวไทย
สนับสนุนโครงการโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน